9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 วันทลาย ‘กำแพงเบอร์ลิน’ สัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น

วันนี้ เมื่อ 33 ปีก่อน รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกเริ่มทะลายกำแพงเบอร์ลิน หลังสหภาพโซเวียตใช้ปิดกั้นเป็นเวลานานถึง 28 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เยอรมนีในฐานะผู้แพ้สงครามถูกแบ่งประเทศออกเป็น 4 ส่วนภายใต้การควบคุมของ 4 ประเทศผู้ชนะคือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน
 

ต่อมา อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต ได้เกิดความแตกแยกทางอุดมการณ์ความคิด ทำให้ อังกฤษ สหรัฐ และฝรั่งเศสที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมมาอยู่ฝั่งเดียวกัน และสหภาพโซเวียตที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ต่อมาเกิดเป็นจุดเริ่มต้นสงครามเย็น เป็นผลให้มีการขีดเส้นแบ่งเยอรมนีออกเป็นสองส่วน คือ เยอรมันตะวันออกภายใต้อำนาจของโซเวียต และเยอรมันตะวันตกภายใต้อำนาจ 3 ประเทศ

ในช่วงหลายปีแรกผู้คนในเบอร์ลินยังไปมาหาสู่กันได้ แต่เมื่อประชากรฝั่งตะวันออกแอบหลบหนีออกไปฝั่งตะวันตกมากขึ้น สหภาพโซเวียตจึงประกาศปิดดินแดนอย่างจริงจัง สั่งการให้ปิดการสัญจรข้ามเส้นเขตแดนทุกช่องทางเพื่อกันการทะลักออกของประชากรฝั่งตะวันออก จากนั้นจึงสร้างกำแพงเบอร์ลินอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากรั้วลวดหนาม ก่อนจะก่อสร้างเพิ่มความแน่นหนาถาวรในเวลาต่อมา โดยมีความยาวทั้งสิ้น 155 กิโลเมตร และปิดกั้นพรมแดนนี้เป็นระยะเวลา 28 ปี 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 ที่ฝั่งโซเวียตและรัฐบาลเยอรมันตะวันออกยอมแพ้ กำแพงเบอร์ลินเริ่มถูกทุบ พร้อมกับการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นทุกอย่างเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เยอรมันตะวันออกและตะวันตกรวมกันเป็นประเทศเยอรมัน และฟื้นฟูบ้านเมืองจนเป็นประเทศที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน