30 มกราคม พ.ศ. 2491 ‘มหาตมะ คานธี’ ถูกยิงเสียชีวิต ด้วยฝีมือชายชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนา

30 มกราคม พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) นาถูราม โคทเส ยิง มหาตมะ คานธี ผู้นำทางการเมือง และ จิตวิญญาณของชาว อินเดีย เสียชีวิต ในเมืองเดลี

ช่วงเย็นของวันที่ 30 มกราคม มหาตมะ คานธี 2491 (ค.ศ. 1948) ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดียกำลังยืนอยู่กลางสนามหญ้า ในขณะพนมมือสวดมนต์ตามกิจวัตร คานธีถูกนายนาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนาและไม่ต้องการฮินดู (อินเดีย) สมานฉันท์กับมุสลิม (ปากีสถาน) ใช้อาวุธปืนยิงใส่คานธี 3 นัด จนคานธีล้มลงขณะพนมมือ รายงานส่วนใหญ่บรรยายว่า คานธีเปล่งเสียงแผ่วเบาว่า 'ราม' (บ้างก็ว่า 'เห ราม' ซึ่งมีความหมายว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า) เป็นการปิดฉากบั้นปลายชีวิตของมหาบุรุษผู้ต่อสู้กับมหาอำนาจด้วยสันติวิธีในวัย 78 ปี ภายหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ได้เพียง 6 เดือน

สำหรับประวัติของชายผู้นำการเรียกร้องเอกราชและความเสมอภาค ที่ชื่อ มหาตมะ คานธี ที่เน้นความเป็นสันติวิธี เรียกกันว่าสัตยาเคราะห์ มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่คานธีเป็นทนายความในวัย 24 ปี โดยเกิดขึ้นบนสถานีรถไฟในประเทศแอฟริกาใต้ครั้งยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

เป็นเหตุการณ์หลังจากที่คานธีเรียนจบกฎหมายจากลอนดอนกลับมาอยู่ที่อินเดียได้ไม่นาน คานธีเดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อไปเป็นนักกฎหมายประจำบริษัท Dada Abdulla ที่ทำการค้าอยู่ที่นั่น ในเดือนเมษายน ปี 1893 คานธีซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นตู้รถไฟที่หรูหราสะดวกสบายตามอัตราค่าบริการที่สูง แต่เขากลับถูกไล่ลงจากสถานีแรก ให้ไปอยู่ที่ตู้รถไฟชั้นสาม (ชั้นทั่วไปที่ไม่มีความสะดวกสบายและราคาถูก) โดยพนักงานตรวจตั๋วและผู้โดยสารชาวอังกฤษที่อ้างว่าตู้รถไฟชั้นหนึ่งสร้างขึ้นสำหรับผู้โดยสารผิวขาวเท่านั้น

นั่นทำให้คานธีตระหนักได้ว่า ไม่เฉพาะชาวอินเดียที่ถูกข่มเหงจากคนอังกฤษ ยังรวมไปถึงชาวแอฟริกาที่ถูกกระทำไม่ต่างกับสัตว์ ในที่สุดคานธีคิดว่าเขาจะอยู่ต่อและต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม

ช่วงแรกของการต่อสู้ที่แอฟริกา คานธีจัดประชุมอพยพชาวอินเดีย นี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อสิทธิชาวอินเดียในแอฟริกา (ท้ายที่สุดกลายเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวผิวสีทุกคน) เพื่อต่อต้านกฎหมายที่อังกฤษร่างขึ้นเพื่อใช้กดขี่ทั้งชาวอินเดียและชาวแอฟริกา ทั้งเขียนบทความ ออกไปพูดชักชวนคนอินเดียให้ประท้วง ในช่วง 7 ปีในแอฟริกา คานธี ถูกจับ ถูกเฆี่ยนตี แต่ในทุกครั้ง เขากลับเดินเข้าคุกด้วยความสงบ และยิ้มรับด้วยความเต็มใจ

คานธี จึงตั้งชื่อขบวนการต่อสู้นี้ว่า สัตยาเคราะห์ (สัตยาคฤห Satyagraha) ซึ่งเป็นคำสมาสจากคำในภาษาสันสกฤตคำว่า สัตยา ที่แปลว่า ความจริง (ที่นำมาสู่ความรัก) และคำว่า อะเคราะห์ ที่แปลว่า ความเด็ดเดี่ยว (ที่นำมาสู่พลัง) รวมกันเป็น 'ความจริงและความรักที่ผนึกเข้าเป็นพลังอันแข็งเกรง' นำมาอธิบายแนวคิดของการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปฏิบัติได้จริง

นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดของคานธีที่นำมาใช้เรียกร้องเอกราชของอินเดียในเวลาต่อมา และเป็นแบบอย่างของการเรียกร้องแนวอหิงสา (ความไม่เบียดเบียน การเว้นจากการทำร้าย) ภายใต้คำว่า 'สัตยาเคราะห์' ของชายชื่อ มหาตมะ คานธี


ที่มา : https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_26855