ส่องคืบหน้า LRT ขอนแก่น ติดปัญหาเรื่องทุน และเรื่องที่ดินรอบสถานีรถไฟฟ้า นายกฯ ยันลุยต่อ หวังเปลี่ยนเมืองด้วยระบบขนส่ง

เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.30 น. ณ ห้องทำงานนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ เพจ The Active ของ Thai PBS รายการ มหานครวิพากษ์ ประเด็น การพัฒนาเมืองขอนแก่น โดยนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นได้ให้สัมภาษณ์ว่า เทศบาลนครขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT ขอนแก่น เนื่องจากปัญหาการจราจร เกิดขึ้นจากหลายประการ เช่น ระบบขนส่งสาธารณะไม่สะดวก แต่ละเมืองมีขนส่งมวลชนที่มีรูปแบบเฉพาะของตนเอง

สำหรับจังหวัดขอนแก่นเองเมื่อในอดีตก็มีระบบขนส่งสาธารณะปะเภทรถบัส, รถตู้, รถเมล์, รถสองแถว ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นชั่วโมงเร่งด่วน จึงเกิดความไม่สะดวก ส่งผลให้พี่น้องประชาชนนำรถส่วนตัวมาใช้มากขึ้น ซึ่งก่อเกิดปัญหารถติด การจราจรติดขัด ปัญหามลพิษ มลภาวะตามมาด้วย เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ในปัจจุบัน

ซึ่งโครงการดังกล่าวมีรูปแบบการลงทุนจะใช้เงินจาก บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด KKTS ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มบริษัทในจังหวัดขอนแก่นประมาณ 20 บริษัท เมื่อได้รับสัญญาอนุญาตจากภาครัฐ จึงจะระดมทุนจากชาวจังหวัดขอนแก่นและผู้สนใจ ในลักษณะการระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding)

จากนั้น จะเข้าจดทะเบียนเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจะมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD) สำหรับความคืบหน้า โครงการก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เส้นทางสายเหนือ-ใต้ นำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ซึ่งความคืบหน้าในปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตาม 2 เรื่อง คือ

1.) เรื่องการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD)

2.) สถาบันการเงิน ได้ชะลอเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

ในส่วนของการเป็นเมืองแห่งโอกาสของเทศบาลนครขอนแก่น คือการต่อจิ๊กซอว์แต่ละด้านให้ครบ เพื่อมีโอกาสในการเลือกอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้ เช่น การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ (logistic hub) โครงการรถไฟรางคู่ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT ขอนแก่น ที่เป้าหมายไม่ใช่ทำรถไฟฟ้าเพื่อให้ได้รถไฟฟ้า แต่เป้าหมายหลักคือการเป็น “รางเปลี่ยนเมือง” ซึ่งมีวิธีคิดที่แตกต่าง คือ เมืองขอนแก่น ทำโครงการเพื่อเมืองเราเอง โดยการหาทุนเอง สร้างกันเอง

สาระสำคัญนั่นคือ เราต้องการหาทุนเอง ผลิตเอง เพื่อให้ลูกหลานคนขอนแก่นคนอีสานได้มีงานดี ๆ ทำ มีรายได้สูง ๆ วิธีการคือ การจัดทำหลักสูตรรองรับ ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบบรางให้รองรับกับโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต, การเป็นเมือง MICE CITY เมืองแห่งการประชุมสัมมนา เป็นการสร้างเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว, การเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศ (Medical Hub)

ซึ่งทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุ่มงบ 2 หมื่นล้านบาท กำลังก่อสร้างเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศ จำนวน 5,000 เตียง ให้มีขนาดใหญ่สุดในไทยและอาเซียน มีตำแหน่งบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ยกระดับรายได้

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้สถานศึกษาในจังหวัดขอนแก่น มีการปรับปรุงหลักสูตรให้รองรับ เด็กและเยาวชนมีทางเลือกด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และมีโอกาสในการประกอบอาชีพ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นต่อไปในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนพื้นที่แห่งโอกาสให้กับประชาชนชาวขอนแก่น

สำหรับหลักการทำงานของเทศบาลนครขอนแก่น มี 2 มิติ คือ มิติแรก การทำงานในองค์กรเน้นการทำงานเป็นทีม (Super Team Advanture) มิติที่สอง การทำงานภายนอก เป็นการถักทอเครือข่าย การทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนมีจิตสำนึกมากกว่าหน้าที่ การทำงานเชิงรุก 2 มิตินี้ทำให้เทศบาลนครขอนแก่นเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เกิดกระบวนการทำงานที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ เทศบาลนครขอนแก่นได้ยึดหลักการทำงาน 3 หลัก ได้แก่ การมีส่วนร่วม โปร่งใส และกระจายอำนาจ

ที่มา : https://www.77kaoded.com/news/aekkapongputta/2397956