Friday, 3 May 2024
ผ้าไหมแพรวา

"กาฬสินธุ์" ตลาดไหมแพรวาสุดเฟื่องส่งต่อคนรุ่นใหม่ ขายออนไลน์ยอดพุ่ง!!

บรรยากาศการจำหน่ายผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหม และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวาทอมือบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังเฟื่องฟูและลื่นไหล ผู้ประกอบการยุคบุกเบิกยังดำเนินกิจการต่อเนื่อง ขณะที่หลายรายส่งไม้ต่อให้ลูกหลานสืบสาน เป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาล้ำค่า จำหน่ายทั้งหน้าร้านและทางออนไลน์ รายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 4 ล้านบาท

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการจำหน่ายผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหม และผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวา ที่ได้จากการทอด้วยมือชาวผู้ไทบ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ยังได้รับความนิยมจากลูกค้าใกล้ไกลไม่เสื่อมคลาย ซึ่งพบว่าในทุก ๆ วัน มีทั้งเดินทางมาเลือกซื้อด้วยตนเอง และติดต่อซื้อขายทางออนไลน์ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ 8 ราย ได้เปิดช่องทางการตลาดผ่านโซเชียลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เฟซบุค กลุ่มไลน์ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังระบุว่ายอดจำหน่ายสูงกว่าขายหน้าร้านหลายเท่าตัว รายได้รวมวันละ 1 แสนถึง 1 แสน 5 หมื่นบาท หรือเดือนละ 3 ล้านถึง 4 ล้าน 5 แสนบาท

นางสาวอุมาพร ลามุล  อายุ 31 ปี เจ้าของร้านมรดกภูไท เลขที่ 149 หมู่ 2 บ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมครอบครัวตนเปิดร้านขายอุปกรณ์และสินค้าทางการเกษตร ควบคู่กับปลูกพุทราและผลไม้ ต่อมาเห็นตลาดผ้าไหมแพรวาเฟื่องฟูมาก ประกอบกับตนเป็นคนรุ่นใหม่ จึงมีแนวคิดว่าผ้าไหมแพรวา ต้องไม่ใช่แค่ผ้าซิ่นหรือสไบ ผ้าไหมแพรวาต้องไปไกลกว่านี้ ตลาดต้องกว้างไกลกว่าที่ผ่านมา ทุกเพศ ทุกวัย สามารถตัดเย็บเป็นเดรสสูท หรือเสื้อผ้าสวมใส่ได้ทุกโอกาส ในปี 2561 จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายมาจำหน่ายผ้าไหมแพรวา รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมแพรวา เพียงระยะเวลา 4 ปี ประสบผลสำเร็จทั้งยอดขาย จำหน่ายทั้งหน้าร้านและทางออนไลน์ สามารถพูดได้ว่าถึงแม้ที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจจะอย่างไร หรือประสบสถานการณ์โควิด-19 ยังไง แต่การค้าขายผ้าไหมแพรวาไม่กระทบ ยังไปได้เรื่อย ๆ ภูมิใจที่ผ้าไหมแพรวา สามารถสร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน ไม่ต่างจากเปลี่ยนอาชีพจากไร่นาสู่ผ้าทอ ทำให้ชาวบ้านโพนมีรายได้ยั่งยืน

'เยาวชนวิจิตรแพรวา' สานภูมิปัญญาผ้าไหมไทย

โรงเรียนชุมชนโพนพิทยา อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดการเรียนการสอนหลักสูตรสาระท้องถิ่น การทอผ้าไหมแพรวา ส่งต่อภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองให้กับเยาวชนร่วมสืบสาน พร้อมเปิดช่องทางการจำหน่ายริวิวขายทางออนไลน์ สร้างรายได้ระหว่างเรียนและเป็นทุนการศึกษาในอนาคต

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 ที่โรงเรียนชุมชนโพนพิทยา ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ นายวัฒนะ บุตรสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนโพนพิทยา พร้อมด้วยนางดาราพร บุตรสุวรรณ์ หัวหน้ากลุ่มสาระการงานอาชีพ และบุคลากรครูกลุ่มสาระท้องถิ่น การทอผ้าไหมแพรวา ดูแลความเรียบร้อยการเรียนการสอนในชั่วโมงเรียนของชุมนุมทอผ้าไหมแพรวา โดยมีนักเรียนระดับอนุบาลถึงชั้น ม.3 ให้ความสนใจเรียนเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

นายวัฒนะ บุตรสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนโพนพิทยา กล่าวว่า โรงเรียนชุมชนโพนพิทยา เป็นสถานศึกษาประจำชุมชน ซึ่งมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นคือมารยาทสวยด้วยชุดผู้ไทย ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านโพน มีเอกลักษณ์ด้านการทอผ้าไหมแพรวาด้วยภูมิปัญญาชาวผู้ไทมาตั้งแต่ดั้งเดิม เริ่มต่อยอดขยายผลหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ทรงรับไว้ในโครงการศิลปาชีพตั้งแต่ปี 2520

ต่อมามีการพัฒนาและออกแบบลายผ้าไหมแพรวา จนได้ชื่อว่าราชินีแห่งไหม โดยในชุมชน ประชาชน ผู้ปกครองเด็กนักเรียน มีการทอผ้าไหมแพรวาเป็นอาชีพ ที่เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหม การปั่นเส้นไหม ย้อมสีธรรมชาติ และขั้นตอนสุดท้ายคือ ทอมือ ผ้าไหมแพรวา ถือเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมล้ำค่าและควรรักษา เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังร่วมสืบสาน จึงได้จัดหลักสูตรท้องถิ่นทอผ้าไหมแพรวาในโรงเรียนขึ้น โดยจัดขึ้นมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2539

ราชินีแห่งผ้าไหมไทย 'ชาวภูไท' สืบสานมรดกหัตถกรรม พัฒนาผ้าไหมแพรวา จนได้มาตรฐานจีไอ

(กาฬสินธุ์) วันที่ 20 ม.ค. 2566 'แพรวา' หมายถึง ผ้าไหมทอมรดกทางหัตถกรรมดั้งเดิมของชาวภูไท อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ผืนผ้าจากการทอเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้แปรสภาพ มีความยาว 1 วา หรือหนึ่งช่วงแขนของคนทอ

ชนภูไทมักนิยมใช้เป็นผ้าสไบเฉียงคลุมไหล่ซ้ายทับชุดประจำถิ่น โดดเด่นด้วยโทนสีสดดำ-แดง ใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่น ๆ มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าแพรวา ที่มีความงดงาม และความประณีตในการทอ มีลักษณะเด่นด้านลวดลาย สีสัน ความมีระเบียบ ความเรียบ และความเงางามของผืนผ้า

“นับเป็นเวลาร่วม 40 ปี ที่แพรวากาฬสินธุ์ มรดกหัตถกรรมดั้งเดิมแต่ครั้งบรรพบุรุษชาวภูไท ที่ถ่ายทอดสืบสานวัฒนธรรมมายาวนานกว่า 300 ปี จนถูกขนานนามเป็นราชินีแห่งผ้าไหม สืบเนื่องจากพระบารมีของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทอดพระเนตรเห็นความงาม และคุณค่าแห่งศิลปะของลวดลายผ้าไหม ที่ชาวภูไทได้แต่งกายมารอรับเสด็จ ครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาว อ.คำม่วง เมื่อปี 2520 และได้โปรดให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมทั้งทรงพระราชดำริ ให้นำผ้าทอไปตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์อย่างงดงาม วิจิตร ส่งผลให้ผ้าแพรวามีชื่อเสียงที่เลื่องลือถึงความงดงามจนวันนี้”

กาฬสินธุ์ เตรียมจัดมหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาดยิ่งใหญ่ พร้อมส่งเสริมดนตรีพื้นบ้าน สร้างรายได้ กระตุ้นการท่องเที่ยว

(กาฬสินธุ์) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 15.30 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ศูนย์ราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุรีรัตน์ กอเจริญยศ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์, นายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์, นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์, นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์, นายมีชัย นาใจดี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์, พ.ต.อ.โกวิทย์ เจริญวัฒนศักดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์, นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน 'มหกรรมโปงลาง แพรวา และงานกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์' ประจำปี 2566

ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 17-26 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (หลังใหม่) ศูนย์ราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะการแสดงดนตรีพื้นบ้านโปงลาง และผ้าแพรวา ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น และทรงคุณค่าของจังหวัด อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ดนตรีโปงลาง และผ้าแพรวาให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบวิถีวัฒนธรรม หรือผ้าไหมแพรวา นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์

ร้านตัดเย็บเสื้อผ้าต้นตำรับชุดภูไทขายดี ออเดอร์พุ่งจัดส่งทั่วประเทศ

(กาฬสินธุ์) วันที่ 26 มกราคม 2566 ร้านตัดเย็บเสื้อภูไทต้นตำรับดั้งเดิมในกาฬสินธุ์ เร่งมือแปรรูปผืนผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าไหมแพรวาเป็นเสื้อภูไท และประดับลายบนตัวเสื้อด้วยการปักมือ หลังมีออเดอร์เข้าต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเพิ่มปริมาณการผลิตนำส่งลูกค้าทั่วประเทศ โดยหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 หลายจังหวัดจัดงานเทศกาลประจำปีมีผลต่อยอดสั่งตัดชุดเสื้อผ้า

จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปผ้าไทยประเภทต่าง ๆ พบว่าที่ห้องเสื้อจิตรา บ้านใหม่ชัยมงคล ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นต้นตำรับการตัดเย็บเสื้อภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก แรงงานซึ่งเป็นช่างฝีมือดีจำนวน 15 คนกำลังเร่งตัดเย็บและปักมือ เพื่อให้เสร็จทันต่อความต้องการของลูกค้า รวมทั้งยังมีในส่วนของการเพิ่มปริมาณการผลิตหลังมีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ถือเป็นหน้าเทศกาล การจัดงานประจำปีของหลายภาคส่วน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ หลังเปิดประเทศและผ่อนคลายจากสถานการณ์โควิด-19

นางจิตรา เวียนเตียง อายุ 53 ปี เจ้าของห้องเสื้อจิตรา อ.คำม่วง เล่าว่า พื้นฐานเดิมตนเป็นชาว ต.โพน อ.คำม่วง เคยไปศึกษาวิชาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าจากสถาบันชั้นนำระดับประเทศ ก่อนนำประสบการณ์มาเปิดห้องเสื้อจิตราที่บ้านเกิดในปี 2537 ซึ่งเป็นช่วงที่ผ้าไหมแพรวาบ้านโพนกำลังบูมเต็มที่ ประกอบกับกระแสความนิยมด้านการนำผ้าไทยมาประยุกต์ โดยตัดเย็บเป็นเสื้อภูไท จึงมีลูกค้าทั้งในพื้นที่ และต่างจังหวัดเข้ามาอุดหนุนจำนวนมาก

ซึ่งห้องเสื้อจิตราที่เคยตัดเย็บเสื้อ และกางเกง สำหรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทั่วไป ก็กลายมาเป็นร้านตัดเสื้อภูไท และกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของห้องเสื้อจิตรา ที่มีลูกค้ามาสั่งให้ตัดเย็บเสื้อภูไทอย่างต่อเนื่อง และขยายกลุ่มเป้าหมายทุกเพศ ทุกวัยกว้างขวางมากขึ้น


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Esan Time Thailand
Take Me Top