Monday, 29 April 2024
ไทยลาว

'ไทย-ลาว' ร่วมมือ สร้างสะพานมิตรภาพคู่ขนาน คาด!! เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดแน่ หลังถูกเมินหลายปี

รออีกไม่นาน!! สะพานมิตรภาพไทย - ลาว คู่ขนานจะเกิดขึ้น ห่างจากสะพานเดิมเพียง 500 เมตร คาดก่อสร้างได้ปี 2567 สร้างเสร็จภายใน 3 ปี ไทย - ลาว ร่วมมือกันลงทุนคนละครึ่ง หนองคายขานรับผุดโครงการรองรับการขยายตัวทางโลจิสติกส์ คาดรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงมาถึงหนองคาย นักลงทุนจะแห่เข้าประมูลทำประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังถูกเมินมานานหลายปี

ในระยะเวลาอันใกล้นี้จังหวัดหนองคายจะมีการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา เจรจา และนำเสนอ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเจริญเติบโตและให้สอดรับกับขบวนรถไฟความเร็วสูงลาว - จีน ซึ่งนับตั้งแต่มีการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงลาว - จีน แม้เดินทางไปถึงได้แค่สถานีบ่อเต็น ยังไม่สามารถเข้าเมืองคุนหมิงได้ ก็มีผู้ใช้บริการขบวนรถไฟสายนี้แล้วกว่า 2 ล้าน 8 หมื่นคน เป็นคนไทยมากถึง 2 ล้านคน

โดยในช่วงเดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลจีนจะมีการประชุมหารือว่าจะสามารถเปิดเดินรถไฟถึงสถานีคุนหมิงได้ในช่วงใด เนื่องจากรัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับซีโร่โควิดอยู่ และยังมีประเด็นให้พิจารณารอบด้าน ซึ่งปัญหาการเดินรถไฟขบวนขนสินค้าที่หยุดอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ไม่ได้เชื่อมต่อไปยังท่าเรือบกของลาวเพื่อขึ้นรถไฟความเร็วสูงขึ้น ต้องมีการยกแคร่สินค้าโดยทางการลาว

อย่างไรก็ตามแม้ขบวนรถไฟสายนี้จะหยุดอยู่แค่ สปป.ลาว ไม่ได้ข้ามฝั่งมายังประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจมีการจัดทำโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยโครงการใหญ่ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ในปี 2566 คือการเริ่มก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว คู่ขนานกับสะพานแห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย จุดที่ตั้งตัวสะพานห่างกันเพียง 500 เมตร ใกล้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ชุมชนจอมมณี เขตเทศบาลเมืองหนองคาย

ซึ่งการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ดังกล่าว เกิดขึ้นจากสภาพความแออัดของสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 ที่มีปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุกสินค้า รถโดยสารเข้าออกในแต่ละวันจำนวนมาก ยิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ การจราจรจะหนาแน่น ประกอบกับมีรางรถไฟไทย - ลาว อยู่ตรงกลางสะพาน ทำให้เมื่อเวลารถไฟจะแล่นผ่าน ต้องหยุดรถยนต์ทุกชนิด ดังนั้นการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่นี้จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาวลงทุนก่อสร้างร่วมกันคนละครึ่ง และจะมีเอกสิทธิ์ อำนาจการบริการจัดการเท่าเทียมกัน

โดยในปี 2566 จะเป็นการศึกษาออกแบบ และเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 2571 ส่วนการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สำหรับขนสินค้าคาดว่าจะก่อสร้างถึงสถานีนาทา หนองคาย ในปี 2569 และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสำหรับคนโดยสารคาดว่าจะมาถึงหนองคายในปี 2572

พร้อมทั้งมีการจัดสร้างสถานีพักคอยรถบรรทุก สามารถจอดรถได้ 200 คัน ที่บ้านหนองสองห้อง อ.เมืองหนองคาย ริมถนนมิตรภาพ ก่อนที่รถบรรทุกสินค้าจะนำสินค้าข้ามแดน จะมีรถโมบายเอ็กซเรย์ของศุลกากร เข้าตรวจสอบ จำนวน 3 คัน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า และสามารถปล่อยรถที่ได้รับการตรวจตามขั้นตอนปฏิบัติแล้วออกไปได้ โดยสถานีพักคอยรถบรรทุกจะเปิดใช้ในปี 2566

ชาวไทย-ลาว แห่ร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากน้ำโขง เปิดงานนมัสการพระธาตุพนม ประจำปี 2566 คับคั่ง!!

พลังศรัทธาล้นสองฝั่งโขง ชาวพุทธไทย-ลาวนับหมื่นเดินทางร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากลำน้ำโขงแห่ประดิษฐาน ณ วิหารหอพระแก้ว เปิดงานนมัสการพระธาตุพนม 2566 อย่างเต็มรูปแบบ หลังจัดแบบรักษาระยะห่างคุมเข้มโควิดระบาดมานาน 2 ปี คาดตลอด 9 วันการจัดงานชาวไทย-ลาวไม่ต่ำกว่าแสนร่วมนมัสการพระธาตุพนม

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2566 ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ท่าเทียบเรือด่านศุลกากรข้ามฟากระหว่างประเทศไทย-ลาว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของอำเภอธาตุพนม พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร/ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2/ส.ส.นครพนม นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รอง ผวจ.นครพนม นางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นำพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทย-ลาว นับหมื่นคนที่เบียดเสียดกันเต็มริมตลิ่งจนไม่มีที่เดิน

ตลอดจน “ข้าโอกาส” พระธาตุพนม ร่วมประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากใต้บาดาลแม่น้ำโขง หลังอัญเชิญก็แห่ไปตามถนนกุศลรัษฎากร เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วิหารหอพระแก้ว ด้านหน้าองค์พระธาตุพนมฯ ซึ่งพิธีดังกล่าวเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมีการรำบวงสรวงไปตลอดเส้นทางในการแห่พระอุปคุต

งานนมัสการองค์พระธาตุพนมปี 66 จัดขึ้นในวันที่ 29 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 6 ก.พ. 66 เป็นเวลา 9 วัน 9 คืนจัดยิ่งใหญ่เต็มรูปแบบหลังพ้นวิกฤตแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยงานวันแรก วันนี้ (29 ม.ค.) พิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำโขงมีดารานักร้องชื่อดังเข้าร่วมขบวนแห่หลายคน ตลอด 9 วันที่จัดงานคาดว่าจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวลาวเข้าร่วมนมัสการองค์พระธาตุนับแสนคน

โดยพิธีเริ่มตามฤกษ์เวลา 08.00 น. พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา จากนั้น นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม กล่าวคำอัญเชิญพระอุปคุต ที่ตามตำนานกล่าวว่าท่านจำศีลภาวนาอยู่ใต้บาดาล โดยมีผู้ดำน้ำลงไปอัญเชิญ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายปรัตถกร บุลาวรรณกร นายอำเภอธาตุพนม พล.ร.ต.สมาน ขันธพงษ์ ผบ.นรข. พ.อ.สมหมาย บุษบา รอง ผบ.มทบ.210 พ.ต.อ.จุลฤทธิ์ จุลกะ รอง ผบก.ภ.จว.นครพนม นายสัญชัย ธ.น.ตื้อ นายกเทศมนตรีตำบลธาตุพนม เพื่อนำมาส่งให้แก่ นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม ที่ยืนรออยู่บนปะรำพิธี

19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ‘ไทย - ลาว’ หยุดยิงใน “สมรภูมิร่มเกล้า” ความขัดแย้งจากข้อพิพาทเส้นแบ่งดินแดน

วันนี้ เมื่อ 35 ปีก่อน ‘ไทย - ลาว’ ประกาศหยุดยิงใน “สมรภูมิร่มเกล้า” เหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาแล้วกว่าสามทศวรรษ!! 

ความขัดแย้งระหว่างไทยและลาวบริเวณชายแดน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทในการกำหนดเส้นแบ่งดินแดนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพรานไทยและลาวหลายครั้งตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2530 เมื่อทหารลาวได้เข้าทำลายรถแทรกเตอร์ของเอกชนไทย ทำให้คนงานเสียชีวิตหนึ่งราย ในพื้นที่ซึ่งลาวอ้างว่าอยู่ในเขตตาแสงของแขวงไชยะบุรี พร้อมระบุว่าบ้านร่มเกล้าอยู่เข้าลึกไปในเขตลาว 2 กิโลเมตร


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Esan Time Thailand
Take Me Top