Thursday, 9 May 2024
Esan Time Team

19 ตุลาคม ‘วันเทคโนโลยีของไทย’ เทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย หลังทรงพระกรุณาบัญชาการปฏิบัติการทำฝนสาธิตด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515

นอกจากจะทรงเป็นนักปกครองแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงมีอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้กำหนดให้ วันที่ 19 ตุลาคม เป็นวันเทคโนโลยีของไทย 

สาเหตุที่กำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม เป็นวันเทคโนโลยีของไทย เนื่องจาก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หรือเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ด้วยพระปรีชาสามารถในการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผล ให้ตกในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศสิงคโปร์ที่กำลังประสบภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับสภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น ขอส่งนักวิทยาศาสตร์มาสังเกตการณ์และขอรับถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญใน การปฏิบัติการทำฝนหวังผลในประเทศไทย 

ในการนี้ทรงพระกรุณารับบัญชาการปฏิบัติการสาธิตด้วยพระองค์เอง ทรงกำหนดให้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,162.5 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการทำฝนสาธิตครั้งนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยปฏิบัติการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผลที่ผ่านมา ทรงปฏิบัติการฯสาธิต ในวันที่ 19ตุลาคม 2515 ณ ศูนย์บัญชาการฯ สันเขื่อนแก่งกระจาน ทรงสามารถบังคับหรือชักนำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างแม่นยำภายในเวลาประมาณ 5 ชั่วโมงนับจากเริ่มปฏิบัติการ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาและเป็นที่น่าอัศจรรย์แก่นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ และข้าราชบริพารที่เป็นข้าราชการและข้าราชบริพารระดับสูงที่เฝ้าฯ สังเกตการณ์อยู่ ณ ที่นั้น ต่างประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถ  

การสาธิตฝนครั้งนั้น ถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนมาถึงปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543  คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น 'พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย' และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น 'วันเทคโนโลยีของไทย' เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์ และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย

มท.1 ลงพื้นที่อุบลฯ ตรวจน้ำท่วม กำชับชัด หาน้ำดื่ม ห้องน้ำ ให้ผู้ประสบภัย

มท.1 ลงพื้นที่น้ำท่วมอุบลฯ เยี่ยมชุมชนบ้านกุดเป่ง อ.วารินชำราบ กำชับผู้ว่าฯ ดูแลส่งอาหาร น้ำดื่ม ให้ผู้ประสบภัยต้องทั่วถึงอย่าได้ขาด รวมทั้งจัดหาห้องน้ำทั้งในศูนย์พักพิงและคนที่ยังอยู่ในบ้าน

เมื่อวันที่ (18 ต.ค. 65) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เดินทางมาถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 และรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ ณ ห้องรับรองสนามบิน โดย นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนออกเดินทางจากสนามบินกองบิน 21 โดยรถยกสูง กรม ปภ. ไปเยี่ยมชุมชนบ้านกุดเป่ง เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ ซึ่งประสบอุทกภัยที่ ณ ศูนย์อพยพโรงเรียนชุมชนบ้านกุดเป่ง พร้อมพบปะกับประชาชนที่ประสบอุทกภัย

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ตนเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีมาส่งความห่วงใยพี่น้องประชาชน ปีนี้น้ำท่วมอุบลราชธานีไม่เหมือนปี 62 เพราะอุบลราชธานีมีทั้งฝนในพื้นที่ และเป็นที่รองรับน้ำจากทั้งแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลตอนบนอีก ดังนั้นอุบลราชธานีต้องเผชิญน้ำท่วมอีกนาน ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่ประสบอุทกภัยในด้านความเป็นอยู่ ตนจึงต้องลงมาดูแล และได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการจัดการดูแลการดำรงชีวิตของผู้ประสบอุทกภัยให้ทั่วถึง ต้องส่งอาหาร น้ำดื่ม ให้ประชาชนอย่าได้ขาด ดูแลเรื่องห้องน้ำของประชาชนทั้งในศูนย์พักพิงและที่ยังอยู่ที่บ้าน ต่อจากนั้นต้องเร่งสูบน้ำที่ท่วมขัง ไม่งั้นชาวบ้านจะต้องอยู่กับน้ำเสีย เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะดำเนินการซ่อมบ้าน และดูแลเรื่องการทำการเกษตรในปีต่อไป โดยจะมีมาตรการดูแลพิเศษให้

ทั้งนี้ระหว่างการพบปะประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้สอบถามความต้องการ และการได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างใกล้ชิด โดยนางสาวอัจจิมา สาระคำ อายุ 32 ปี ชาวชุมชนกุดเป่ง หมู่ 6 เทศบาลเมืองวารินชำราบ เผยว่าบ้านตนถูกน้ำท่วมมาร่วม 1 เดือนแล้ว งานก็ไม่ได้ไปทำเพราะน้ำท่วมเดินทางลำบาก จึงอยากให้มีการดูแลเรื่องอาหารปรุงสุกให้ได้ทุกวัน วันละครั้งก็ได้ เพราะครอบครัวตนมีกันถึง 8 ชีวิต ถุงยังชีพก็ได้บ้าง แต่ยังขาดแคลนอาหารปรุงสุก เพื่อจะได้ลดค่าใช้จ่าย ลดความเดือดร้อนในช่วงนี้ด้วย

ภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีการกำชับพื้นที่ให้เข้ามาดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ให้มีการจัดการให้ดีขึ้น จากนั้นได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากบ้านฮ่องอ้อ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวดอนปูตา เทศบาลตำบลท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร ตามลำดับ

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 19 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ เหล่าเสือโก้ก สำโรง นาเยีย สิรินธร และอำเภอบุณฑริก แยกเป็น ด้านการดำรงชีพ ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ ดอนมดแดง ตระการพืชผล เดชอุดม สำโรง เขื่องใน ตาลสุม ทุ่งศรีอุดม และอำเภอสิรินธร จำนวน 42 ตำบล 253 หมู่บ้าน 18,178 ครัวเรือน 78,553 คน ถนน 157 สาย สะพาน/คอสะพาน 11 แห่ง วัด/ที่พักสงฆ์ จำนวน 82 แห่ง รพ.สต. 7 แห่ง โรงเรียน 52 แห่ง

แม่น้ำชีล้นตลิ่งร้อยเอ็ด ขยายวงถึง อ.เชียงขวัญ

น้ำท่วมร้อยเอ็ดกระทบ 15 อำเภอ ล่าสุด แม่น้ำชีที่บ้านวังยาว-วังเจริญ ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ ล้นตลิ่งท่วมหมู่บ้าน 150 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย ชาวบ้านอาศัยถุงยังชีพประทังชีวิต น้ำก็ต้องซื้อดื่ม

จากกรณีเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ลดการระบายน้ำ เหลือเป็น 52 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ประกอบกับแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เกินปริมาณกักเก็บในหลายแห่ง ส่งผลให้มวลน้ำชีล้นตลิ่งจนเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ล่าสุดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่อุทกภัย รวม 15 อําเภอ 93 ตําบล 743 หมู่บ้าน 14,615 ครัวเรือน ถนน 7 สาย วัด 30 แห่ง โรงเรียน 13 แห่ง รพ.สต. 4 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 27,691 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 306,657 ไร่ ทั้งนี้ แม้พนังกั้นลำน้ำชีของบ้านสะดำศรี ตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จะขาดลงแต่ก็เป็นเพียงการตัดยอดน้ำ แต่มวลน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่อำเภอจังหาร ล่าสุดได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนลุ่มต่ำติดแม่น้ำชีในอำเภอโพธิ์ชัยและอำเภอเชียงขวัญ

ล่าสุด สถานีบ้านม่วงลาด อ.จังหาร ระดับแม่น้ําชีสูงกว่าตลิ่ง 1.87 ม. (-50 ซม.) สถานีบ้านวังยาว-หนองแก่ง อ.เชียงขวัญ สูงกว่าตลิ่ง 2.01 ม. (+0.4 ซม.) และสถานีบ้านท่าสะแบง อ.ทุ่งเขาหลวง สูงกว่าตลิ่ง 1.12 ม. (+0.6 ซม.) โดยมวลน้ำก้อนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอเชียงขวัญ ส่งผลให้น้ำท่วมในพื้นที่ 3 ตําบล 9 หมู่บ้าน 185 ครัวเรือน ได้แก่พื้นที่ ต.เชียงขวัญ ต.พระธาตุ ต.พลับพลา โดยมีประชาชนเข้าไปอยู่ศูนย์พักพิงแล้ว 9 จุด ริมถนนแนวกั้นคันพนังแม่น้ำชี

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยัง บ้านวังยาว-วังเจริญ ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำล่าสุดพบว่า มวลน้ำชีที่ล้นตลิ่งได้ท่วมหมู่บ้าน จำนวน 150 ครัวเรือน

สอบถามชาวบ้าน กล่าวว่า มวลน้ำชีได้เริ่มทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งน้ำเริ่มท่วมจากถนนเส้นท้ายของหมู่บ้านและเริ่มขยายวงกว้าง จนเหลือเพียงถนนคอสะพาน ที่สร้างเพิงพักอาศัย ซึ่งชาวบ้านเองก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากนาข้าวที่ได้ทำเสร็จไปก็ถูกน้ำท่วมติดต่อกัน ไม่มีข้าวไว้กินในครัวเรือน ก็ต้องออกหาปลาก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้องอาศัยถุงยังชีพเพื่อหุงหาอาหารประทังชีวิต ซึ่งระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะต้องข้ามสะพานไปสร้างเพิงพักใหม่ ส่วนเรื่องอุปโภคบริโภคชาวบ้านก็ไม่สามารถใช้สุขาได้ตามปกติ น้ำดื่มก็ต้องซื้อกินแบบถังต้องอาศัยเรือของกู้ภัยเพราะน้ำท่วมสูง ก็อยากให้จัดสุขาเคลื่อนที่และน้ำดื่มให้ชาวบ้านด้วย


ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2529611

'ไทย-ลาว' ร่วมมือ สร้างสะพานมิตรภาพคู่ขนาน คาด!! เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดแน่ หลังถูกเมินหลายปี

รออีกไม่นาน!! สะพานมิตรภาพไทย - ลาว คู่ขนานจะเกิดขึ้น ห่างจากสะพานเดิมเพียง 500 เมตร คาดก่อสร้างได้ปี 2567 สร้างเสร็จภายใน 3 ปี ไทย - ลาว ร่วมมือกันลงทุนคนละครึ่ง หนองคายขานรับผุดโครงการรองรับการขยายตัวทางโลจิสติกส์ คาดรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงมาถึงหนองคาย นักลงทุนจะแห่เข้าประมูลทำประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังถูกเมินมานานหลายปี

ในระยะเวลาอันใกล้นี้จังหวัดหนองคายจะมีการพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา เจรจา และนำเสนอ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเจริญเติบโตและให้สอดรับกับขบวนรถไฟความเร็วสูงลาว - จีน ซึ่งนับตั้งแต่มีการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงลาว - จีน แม้เดินทางไปถึงได้แค่สถานีบ่อเต็น ยังไม่สามารถเข้าเมืองคุนหมิงได้ ก็มีผู้ใช้บริการขบวนรถไฟสายนี้แล้วกว่า 2 ล้าน 8 หมื่นคน เป็นคนไทยมากถึง 2 ล้านคน

โดยในช่วงเดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลจีนจะมีการประชุมหารือว่าจะสามารถเปิดเดินรถไฟถึงสถานีคุนหมิงได้ในช่วงใด เนื่องจากรัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับซีโร่โควิดอยู่ และยังมีประเด็นให้พิจารณารอบด้าน ซึ่งปัญหาการเดินรถไฟขบวนขนสินค้าที่หยุดอยู่ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ไม่ได้เชื่อมต่อไปยังท่าเรือบกของลาวเพื่อขึ้นรถไฟความเร็วสูงขึ้น ต้องมีการยกแคร่สินค้าโดยทางการลาว

อย่างไรก็ตามแม้ขบวนรถไฟสายนี้จะหยุดอยู่แค่ สปป.ลาว ไม่ได้ข้ามฝั่งมายังประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจมีการจัดทำโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยโครงการใหญ่ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ในปี 2566 คือการเริ่มก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว คู่ขนานกับสะพานแห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย จุดที่ตั้งตัวสะพานห่างกันเพียง 500 เมตร ใกล้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือหนองคาย ชุมชนจอมมณี เขตเทศบาลเมืองหนองคาย

ซึ่งการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ดังกล่าว เกิดขึ้นจากสภาพความแออัดของสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 ที่มีปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุกสินค้า รถโดยสารเข้าออกในแต่ละวันจำนวนมาก ยิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ การจราจรจะหนาแน่น ประกอบกับมีรางรถไฟไทย - ลาว อยู่ตรงกลางสะพาน ทำให้เมื่อเวลารถไฟจะแล่นผ่าน ต้องหยุดรถยนต์ทุกชนิด ดังนั้นการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่นี้จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาวลงทุนก่อสร้างร่วมกันคนละครึ่ง และจะมีเอกสิทธิ์ อำนาจการบริการจัดการเท่าเทียมกัน

โดยในปี 2566 จะเป็นการศึกษาออกแบบ และเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จประมาณปี 2571 ส่วนการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สำหรับขนสินค้าคาดว่าจะก่อสร้างถึงสถานีนาทา หนองคาย ในปี 2569 และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสำหรับคนโดยสารคาดว่าจะมาถึงหนองคายในปี 2572

พร้อมทั้งมีการจัดสร้างสถานีพักคอยรถบรรทุก สามารถจอดรถได้ 200 คัน ที่บ้านหนองสองห้อง อ.เมืองหนองคาย ริมถนนมิตรภาพ ก่อนที่รถบรรทุกสินค้าจะนำสินค้าข้ามแดน จะมีรถโมบายเอ็กซเรย์ของศุลกากร เข้าตรวจสอบ จำนวน 3 คัน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า และสามารถปล่อยรถที่ได้รับการตรวจตามขั้นตอนปฏิบัติแล้วออกไปได้ โดยสถานีพักคอยรถบรรทุกจะเปิดใช้ในปี 2566

ซับน้ำตาประชาชน!! ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบน้ำท่วม 

เมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม 2565) เวลา 14.00 น. นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่อำเภอโพนทราย เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่เข้ามาพักอาศัยในศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยหอประชุมที่ว่าการอำเภอโพนทราย จากสถานการณ์แม่น้ำมูลหนุนสูงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนอยู่อาศัยของประชาชน ครอบคลุมพื้นที่อำเภอโพนทราย ทั้ง 5 ตำบล 37 หมู่บ้าน จนทำให้บางหมู่บ้านถูกน้ำท่วมรอบหมู่บ้านจนไม่สามารถเดินทางได้ และต้องใช้เรือในการสัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้สั่งการให้เร่งอพยพผู้สูงอายุ เด็ก สตรี มายังศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัย ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอโพนทราย และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างรวดเร็วที่สุดและให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด 


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Esan Time Thailand
Take Me Top