Monday, 20 May 2024
Esan Time Team

อบจ.มุกดาหาร ลงนาม MOU กับ สสจ.มุกดาหาร มุ่งสร้างความร่วมมือ และถ่ายโอนภารกิจ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และรพ.สต.

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ห้องประชุมทานตะวัน ชั้น 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร พันตำรวจโท ดร.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ได้ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ นายมานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร โดยมี นายวุฒิชัย เสาวโกมุท รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วย นายชำนาญ ศรีพารา ท้องถิ่นจังหวัดมุกดาหาร นางวันวิภา แพงแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดมุกดาหาร แพทย์หญิงกันตินันท์ มหาสุวีระชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมุกดาหาร แพทย์หญิงนารีกาน สังขะฤกศร์ ผู้อำนวยการนิคมคำสร้อย นายกิตติศักดิ์ ประคองสิน สาธารณสุขอำเภอคำชะอี นายสุรินทร์ ขจัดมลทิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสามขา คณะผู้แทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้แทนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และคณะเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหารเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ด้วยพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องหลักเกณฑ์และขันตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ซึ่งในประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 กำหนดให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอน สำหรับจังหวัดมุกดาหารมีสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี จำนวน 2 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 76 แห่ง รวมเป็น 78 แห่ง ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร รับมอบถ่ายโอนมา

 

2 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน หลังมีทารก 10 คน คลอดในเวลา 9.48 น.

วันนี้เมื่อ 26 ปีก่อน เป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคนเป็นครั้งแรก ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอนามัยระบุว่า ประชากรคนที่ 60 ล้าน เป็นเด็กทารกเพศชาย คลอดในเวลา 09.48 น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยมีประชากรครบ 60 ล้านคน ทางการได้มีกิจกรรมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง 5 มีการรายงานผลการเกิดของทารกทั่วประเทศ มีหน่วยรถเคลื่อนที่ของช่อง 5 ไปถ่ายทอดสดเหตุการณ์จริงจากห้องคลอดของจังหวัดหลัก ๆ 

ทั้งนี้ มีเด็กที่เกิดในเวลา 09.48 น. ทั้งหมดจำนวน 10 คน โดยรัฐบาลในขณะนั้นได้มอบของขวัญวันเกิดสุดพิเศษให้ เช่น พระเลี่ยมทอง หรือเลสทองคำสลัก ‘อัลเลาะห์’ สำหรับเด็กที่มารดานับถือศาสนาอิสลาม, เช็กของขวัญ 10,000 บาท, บัตรประกันสุขภาพ 10 ปี, ทุนการศึกษาครบหลักสูตร เป็นต้น

การศึกษาเข้มแข็ง!! 'ตรีนุช' ตั้งเป้าสิ้นปีการศึกษา 2565 เด็กออกกลางคันเป็นศูนย์ พร้อมเน้นให้ครูเข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล .


(1 พ.ย. 65) ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ ผ่าน OBEC Channel ว่า ขอบคุณทุกคนที่ได้นำนโยบายของกระทรวงไปปฏิบัติให้มีผลสำเร็จมีความคืบหน้าตามลำดับ ซึ่งในโอกาสเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 ขอเน้นย้ำการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาที่สำคัญในการดูแลพัฒนาการของนักเรียนอย่างเป็นองค์รวม ได้แก่ ความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งด้านการเดินทางไป-กลับของนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อมสถานศึกษาให้ปลอดภัย การให้บริการดูแลด้านโภชนาการ และสุขภาพ การป้องกันภัยธรรมชาติ และที่สำคัญ คือ การป้องกันภัยจากยาเสพติด และภัยจากอาวุธปืน ซึ่งต้องไม่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างเด็ดขาด และต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตามหลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน, ปลูกฝัง และ ปราบปราม ภายใต้โครงการ MOE Safety Center เพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักศึกษา ครู และบุคลากรทุกคน

“ในการเปิดภาคเรียนที่ 2/2565 นี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มุ่งเน้นให้ครูกระชับความสัมพันธ์กับนักเรียนและผู้ปกครองมากขึ้น เพื่อทำให้เข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล ทั้งนิสัยและชีวิตความเป็นอยู่ ได้พูดคุยกับผู้ปกครองโดยตรง เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชนให้ช่วยกันเฝ้าระวัง และมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครองไว้วางใจในการนำผู้เรียนมาอยู่ภายใต้การดูแลของเราผ่านการเยี่ยมบ้านนักเรียน” นางสาวตรีนุช กล่าว

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า เราจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่นักเรียน ผ่านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ‘Screening Learning Loss’ ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ที่ถดถอย ด้วยการนำข้อมูลนักเรียนมาใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม และป้องกันเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งโครงการพาน้องกลับมาเรียน ยังเป็นนโยบายสำคัญที่เดินหน้าต่อเนื่อง โดยติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาครบ 100% และ ทำให้การออกกลางคันเป็นศูนย์ (zero drop out) ในปีการศึกษา 2565 นี้ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม School Mental Health ระบบดูแลนักเรียนและครูในสถานศึกษา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อตรวจสภาพจิตใจของเด็กและครู ซึ่งสถานศึกษาสามารถประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อขอรับคำปรึกษาและความช่วยเหลือเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้

องค์กรแห่งนวัตกรรม SET ยก ปตท. สุดยอดองค์กรนวัตกรรม 'ยั่งยืน-ยอดเยี่ยม' เคลื่อนธุรกิจเติมคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างต่อเนื่อง

ปตท.คว้ารางวัลสูงสุดด้านความยั่งยืน และรางวัลยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากเวที SET Awards 2022

เมื่อ 28 ต.ค. 65 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. ได้รับรางวัล SET Awards ประจำปี 2565 ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร รวม 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน (Sustainability Awards of Honor) และ รางวัลบริษัทยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม (Best Innovative Company Awards) สะท้อนความมุ่งมั่นของ ปตท.ที่ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างต่อเนื่อง

รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Awards of Honor เป็นรางวัลสูงสุด โดย ปตท.ได้รับต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากการปรับแผนการลงทุนสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ครอบคลุมธุรกิจเกี่ยวเนื่องในระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2040 และเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี ค.ศ. 2050 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ. 2065 และแสดงออกถึงการปฏิบัติจริงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ทิศทางความยั่งยืน 

อนึ่ง รางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จด้านความยั่งยืน เป็นรางวัลที่มอบแก่องค์กรที่เคยได้รับรางวัล Best Sustainability Awards ติดต่อกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แสดงถึงความสามารถขององค์กรในการรักษาความโดดเด่นและยอดเยี่ยมด้านความยั่งยืน

ยังต้องเรียนออนไลน์ โรงเรียนในอุบลฯ 12 แห่งยังเปิดเรียนไม่ได้ เหตุ!! โรงเรียนตั้งอยู่ติดลำน้ำมูลที่ยังท่วมสูง

อุบลราชธานี - เปิดเรียนวันแรก 12 โรงเรียนใน จ.อุบลฯ ตั้งอยู่ติดริมน้ำมูล ยังเปิดเรียนไม่ได้ นักเรียนกว่า 1,200 คนต้องเรียนออนไลน์แทน หลังน้ำลดจะสอนเสริม คาดไม่เกินกลางเดือนพฤศจิกายนเปิดเรียนได้หมดผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 พ.ย.) โรงเรียนมัธยมศึกษาและประถมศึกษาขนาดใหญ่ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้เปิดเรียนได้ตามปกติแล้ว และทางโรงเรียนมีการชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความช่วยเหลือทั้งแจกถุงยังชีพ และเงินสดใช้จ่ายช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งจังหวัดกว่า 8,950 คน รวม 93 โรง โดยจะต้องมีการสอนเสริมในส่วนที่ยังเรียนไม่ครบ

ด้านนายเสรี ตุ้มอ่อน ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จังหวัดมีโรงเรียนทั้งหมดจำนวน 1,120 แห่ง มีโรงเรียนถูกน้ำท่วมทั้งเอกชนและรัฐบาลจำนวน 93 แห่ง ส่วนใหญ่น้ำลดเกือบหมดแล้ว เหลือเพียง 12 โรงที่ยังถูกน้ำท่วมขัง และบางส่วนใช้เป็นพื้นที่อพยพ ไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติวันนี้ ทางโรงเรียนได้จัดให้เรียนออนไลน์แทน

1  พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 วันก่อตั้ง ‘โรงพยาบาลคนเสียจริต’ โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกในประเทศไทย

วันนี้เมื่อ 132 ปีที่แล้ว ประเทศไทยกำเนิด ‘โรงพยาบาลคนเสียจริต’ เป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432

สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาเป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกใน ประเทศไทย ก่อตั้งโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 โดยมีชื่อว่า 'โรงพยาบาลคนเสียจริต' ตั้งอยู่ที่ปากคลองสาน 

โรงพยาบาลคนเสียจริต ทำการรักษาผู้ป่วยโดยแพทย์ประจำ และแพทย์แผนไทย ต่อมามีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ประกอบกับสถานที่คับแคบ นายแพทย์ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ซึ่งถือว่าเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลได้เสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดิน และบ้านของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) หรือเจ้าคุณทหาร ที่ดินของนายเปียราชานุประพันธ์และที่ดินใกล้เคียงของราษฎรอื่น ๆ รวมเนื้อที่ 44 ไร่ครึ่งเพื่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่

ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันฯ ในปัจจุบัน คือ อยู่ที่ริมคลองสานด้านตะวันตกตอนใต้ ห่างจากสถานที่เดิมประมาณ 600 เมตร การสร้างโรงพยาบาลคนเสียจริต อยู่ภายใต้การควบคุมของพระยาอายุรเวชวิจักษ์ (หมอคาธิวส์) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานโรงพยาบาลจิตเวชให้เป็นแบบตะวันตกอย่างแท้จริง โดยให้การบำบัดรักษาตามหลักวิชาการในสมัยนั้น พร้อมทั้งให้การดูแลผู้ป่วยด้วยความเมตตา กรุณา และมีมนุษยธรรม ในด้านสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลมีความร่มรื่นด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้ดอก ไม้ใบสีสวย เรือนผู้ป่วยเป็นห้องมีลูกกรงสายบัว โปร่ง ไม่มีหน้าต่าง หลังคาสังกะสีทาสีแดง

ภายหลังมีแพทย์แผนปัจจุบันคนไทยจบการศึกษามารับราชการแทนชาวต่างประเทศ ศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคม (นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรกซึ่งเป็นคนไทย ท่านได้ไปศึกษาวิชาโรคจิตเพิ่มเติมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปี ท่านตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จึงได้เผยแพร่ความรู้ทางด้านจิตเวชด้วยการเขียนบทความ บรรยาย ปาฐกถาเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเลิกหวาดกลัวผู้ป่วยจิตเวช ท่านได้เปลี่ยนชื่อ “โรงพยาบาลคนเสียจริต” มาเป็น 'โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี' ในปี พ.ศ. 2475 เพื่อให้คนทั่วไปคลายความรังเกียจที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวช

ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้อำนวยการในช่วงปี พ.ศ. 2485 - 2502 ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ไทย ท่านได้พัฒนาโรงพยาบาลโดยรื้อลูกกรงเหล็กแล้วเปลี่ยนเป็นมุ้งลวดแทน เปลี่ยนชื่อเรือนที่พักของผู้ป่วยเป็นชื่อดอกไม้เพื่อให้มีความหมายน่าชื่นใจ ในด้านการดูแลผู้ป่วยใช้หลักของความรัก ความเอาใจใส่ประดุจพ่อแม่ดูแลลูก ในด้านวิชาการท่านเป็นผู้วางรากฐานวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตในการศึกษาก่อนและหลังปริญญา ท่านได้เปลี่ยนชื่อ 'โรงพยาบาลโรคจิตต์ธนบุรี' มาเป็น 'โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา' ในปี พ.ศ. 2497 ตามชื่อของถนนสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งผ่านหน้าโรงพยาบาล เพื่อลดความกระดากใจของผู้มาใช้บริการ

โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์ เป็นสถาบันฝึกอบรมทางด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในระดับก่อนและหลังปริญญา พัฒนางานวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์ สุขภาพจิต ประสาทวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ ประสาทจิตเวชศาสตร์ และเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น 'สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา' ในปี พ.ศ. 2545


ที่มา : https://www.somdet.go.th/public/his_som.html

‘สุริยะ’ แนะคนไทย ‘ลอยกระทง’ ด้วยวัสดุธรรมชาติ รักษ์สิ่งแวดล้อม แถมช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน

กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทง ชวนคนไทยใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ และปล่อยโคมลอยได้มาตรฐาน มผช. ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง

ที่จะมาถึงนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมขอเชิญชวนคนไทยเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระทงเปลือกข้าวโพด และกะลามะพร้าวที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ของไทยเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยให้คงอยู่ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย BCG Model ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าของคนไทย ช่วยกระจายรายได้ และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจระดับชุมชนอีกด้วย

“กระทงจากเปลือกข้าวโพด และกระทงจากกะลามะพร้าว เป็นสินค้าชุมชนที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชน และ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นของสารเคมีสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และนอกจากจะแนะนำให้ใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติในเทศกาลลอยกระทงแล้ว ผมขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ด้วย เพราะโคมลอยที่ได้มาตรฐาน ตัวโคมจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ มีปริมาณเชื้อเพลิง ไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวังโดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไมให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้” นายสุริยะฯ กล่าว

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบัน

มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1) กลุ่มกระทงทรงธรรม 2) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ 3) นางเตือนคนึง ราชา และ 1) นางวิรัตน์ ทวนธง และมีผู้ผลิตกระทงจากกะลามะพร้าวที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 40 ราย 

“สำหรับผู้ผลิตโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. มีจำนวน 3 ราย ได้แก่ นางอัมพร จันทร์ถา นายจำลอง จันทร์ถา และนายยุทธภูมิ จันทร์ถา ซึ่งทั้ง 3 ราย เป็นผู้ผลิตโคมลอยในจังหวัดเชียงใหม่ สมอ. จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าชุมชนของไทย โดยสามารถเลือกซื้อกระทงและโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ได้ตามรายละเอียดที่สมอ. แจ้งไว้บนเว็บไซต์ หรือจะสั่งซื้อผ่านทางแอปพลิเคชันช็อปปิ้งออนไลน์ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ก็ได้" เลขาธิการ สมอ. กล่าว

เลขาธิการ สมอ. กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานแล้วทั้งสิ้น 1,392มาตรฐาน มีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองรวม 11,751 ราย แบ่งเป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ อาหาร 1,457 รายเครื่องดื่ม 220 ราย ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4,003 ราย สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 811 ราย และของใช้ ของตกแต่งของที่ระลึก 5,260 ราย สามารถดูรายชื่อผู้ผลิตชุมชนที่ได้รับการรับรองได้ที่https//cps.tisi.go.th/public/certificatestandard.aspx   

ทั้งนี้ หากผู้ผลิตชุมชนต้องการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน มผช. สามารถยื่นขอได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

บัตรทองเพิ่มสิทธิรักษา 'เจ็บป่วยเล็กน้อย' 16 กลุ่มอาการ ฟรีที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ

บัตรทองเพิ่มบริการ 'เภสัชกรรมปฐมภูมิ' ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ครอบคลุม 16 กลุ่มอาการ ให้คำปรึกษาและรับยาไม่เสียค่าใช้จ่าย เตรียมเริ่มให้บริการเร็วๆ นี้  

เมื่อวันที่ (30 ต.ค. 65) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เภสัชกรเป็นหนึ่งในผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่ร่วมดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ส่วนหนึ่งประจำอยู่ในร้านยา ทั้งนี้ ร้านยาชุมชนอบอุ่น เป็นร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ที่ร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรมในระบบบัตรทอง 

โดยปีงบประมาณ 2566 สปสช.ร่วมกับสภาเภสัชกรรมขยายการให้บริการบัตรทองที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นเพิ่มเติม โดยเพิ่มบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองกรณีมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Common Illness) 16 กลุ่มอาการตามแนวทางและมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม ได้แก่...

1. อาการปวดหัว เวียนหัว
2. ปวดข้อ
3. เจ็บกล้ามเนื้อ
4. ไข้
5. ไอ
6. เจ็บคอ
7. ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก
8. ถ่ายปัสสาวะขัด
9. ปัสสาวะลำบาก
10. ปัสสาวะเจ็บ
11. ตกขาวผิดปกติ
12. อาการทางผิวหนัง
13. ผื่น คัน
14. บาดแผล
15. ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา
และ 16. ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหู


ที่มา: https://mgronline.com/qol/detail/9650000103674

‘อนุทิน’​ เตือนผู้ปกครองพาเด็กเล็กฉีดวัคซีนโควิด-19 หวั่นระบาดอีกครั้ง หลังอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

‘อนุทิน’​ เตือนผู้ปกครอง พาเด็กเล็กฉีดวัคซีนโควิด-19​ หวั่นอากาศเปลี่ยนแปลง โควิด-19 อาจหวนระบาดอีกครั้ง

(31 ต.ค. 65) เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข​ กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19​ หลังจากที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและโควิด-19 อาจกลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่ง​ ว่า​ จะต้องเพิ่มการระมัดระวังมากขึ้น​ โดยการฉีดวัคซีน​สามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้​ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ และมีผลยืนยันแล้วว่าไม่มีอาการหนักถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิต​ จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์​มากหากร่วมกันฉีดวัคซีน​ 

ทั้งนี้วัคซีนให้บริการครอบคลุม ตั้งแต่เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน​ -​ ​4 ขวบ​ เป็นวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดง ซึ่งเตรียมไว้พร้อมแล้วและกระจายไว้ทั่วประเทศ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ปกครอง พาเด็กไปรับวัคซีน เราต้องฉีดถึง 3 เข็ม ควรรีบไปฉีด ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นกับทั้งครอบครัว ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวลว่าเด็กจะนำเชื้อจากโรงเรียนมาติดยังผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่บ้าน


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Esan Time Thailand
Take Me Top