Sunday, 28 April 2024
NEWS

'บุรีรัมย์' จัดงาน 'งิ้วและของดีวิถีวัฒนธรรมเมืองห้วยราช' เพื่อสืบสานวัฒนธรรม พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว

ที่บริเวณตลาดเก่าถนนหน้าสถานีรถไฟห้วยราช ต.ห้วยราช อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ นายเทิดพันธ์ ครอบทอง นายอำเภอห้วยราช เป็นประธานเปิดการจัด 'งานงิ้วและของดีวิถีวัฒนธรรมเมืองห้วยราช' ซึ่งเทศบาลตำบลห้วยราช ร่วมกับ อ.ห้วยราช สมาคมชาวจีนในอำเภอห้วยราช สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จัดขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งถือเป็นวันรวมญาติที่จะร่วมรำลึกถึงบรรพชน และเพื่อเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของ อ.ห้วยราช รวมถึงเป็นการฟื้นคืนพื้นที่ตลาดเก่าหน้าสถานีรถไฟห้วยราช เพื่อให้สามารถเกิดการพัฒนาพลิกฟื้นวัฒนธรรมพื้นถิ่นห้วยราช และชุมชนตลาดเก่าหน้าสถานีรถไฟห้วยราช ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

โดยมี นายสุระศักดิ์ เกียรติอาภาเดช นายกเทศมนตรีตำบลห้วยราช, ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, นางแสงเพชร ลำไธสง วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์, หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สมาคมชาวจีนอำเภอห้วยราช ประชาชน นักท่องเที่ยว และส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งนี้ การจัดงานงิ้วและของดีวิถีวัฒนธรรมเมืองห้วยราช ได้จัดให้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. ไปจนถึงวันที่ (23 ต.ค. 65) ที่บริเวณตลาดเก่าหน้าสถานีรถไฟห้วยราช ต.ห้วยราช อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้จัดขึ้นในรูปแบบถนนคนเดิน ระยะทาง 800 เมตร โดยตลอดทั้งสองฝั่งข้างทาง นอกจากจะได้ชมกับอาคารตึกแถวไม้เก่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและตลาดร้านค้าของชุมชนจีนโบราณแล้ว ยังจะมีการแสดงอุปรากรจีนหรืองิ้ว การแสดงดนตรีที่ได้มีการผสมผสานกันระหว่างเครื่องดนตรีสากลกับเครื่องดนตรีมโหรี การจัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางวัฒนธรรม ระหว่างชาวไทยเชื้อสายจีนกับชาวไทยเชื้อสายเขมรพื้นถิ่นบุรีรัมย์ การจัดแสดงผลงานการวิจัยพื้นที่ อ.ห้วยราช ของทีมวิจัยของมหาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ การออกร้านจัดจำหน่ายสินค้าขึ้นชื่อของ อ.ห้วยราช เพื่อร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงของเส้นทางการค้า

นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ชวนร่วมบริจาคสิ่งของ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ (18 ตุลาคม 2565) ณ ที่ว่าการอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ นายสุวรรณ เนตรเนติกุล นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ได้เป็นประธานรับมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนางขวัญตา คิดดี ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง และจ่าเอกโอภาส ทองขาว ปลัดอำเภออำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ นำส่วนราชการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนชาวอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ร่วมบริจาคเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยคุณครูบุศรา บุรมย์ ครูโรงเรียนบ้านตลาดหนองเรือ มอบเงินจำนวน 300 บาทและน้ำดื่ม หน่วยบริการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดศรีสะเกษ หน่วยบริการโพธิ์ศรีสุวรรณ มอบน้ำดื่ม สถานีตำรวจภูธรโพธิ์ศรีสุวรรณ มอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและนม สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ มอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและขนม ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ มอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและน้ำดื่ม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแพทย์ประจำตำบลและสารวัตรกำนัน ตำบลโดด หมู่ที่ 1 - 25 มอบข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำดื่ม ไข่ไก่ เสื้อผ้า และหมู่ที่ 14 มอบเงินจำนวน 240 บาทผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8,12, 14 ตำบลเสียว มอบเงินจำนวน 10,520 บาท ข้าวสาร พริกแห้ง ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม และคุณแพรวพรรณ แซ่เฮง บ้านป่าฝาง ตำบลโดด มอบเงินจำนวน 500 บาท

มท.1 ลงพื้นที่อุบลฯ ตรวจน้ำท่วม กำชับชัด หาน้ำดื่ม ห้องน้ำ ให้ผู้ประสบภัย

มท.1 ลงพื้นที่น้ำท่วมอุบลฯ เยี่ยมชุมชนบ้านกุดเป่ง อ.วารินชำราบ กำชับผู้ว่าฯ ดูแลส่งอาหาร น้ำดื่ม ให้ผู้ประสบภัยต้องทั่วถึงอย่าได้ขาด รวมทั้งจัดหาห้องน้ำทั้งในศูนย์พักพิงและคนที่ยังอยู่ในบ้าน

เมื่อวันที่ (18 ต.ค. 65) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีติดตามสถานการณ์น้ำท่วม เดินทางมาถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 และรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ ณ ห้องรับรองสนามบิน โดย นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนออกเดินทางจากสนามบินกองบิน 21 โดยรถยกสูง กรม ปภ. ไปเยี่ยมชุมชนบ้านกุดเป่ง เทศบาลเมืองวารินชำราบ อ.วารินชำราบ ซึ่งประสบอุทกภัยที่ ณ ศูนย์อพยพโรงเรียนชุมชนบ้านกุดเป่ง พร้อมพบปะกับประชาชนที่ประสบอุทกภัย

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ตนเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีมาส่งความห่วงใยพี่น้องประชาชน ปีนี้น้ำท่วมอุบลราชธานีไม่เหมือนปี 62 เพราะอุบลราชธานีมีทั้งฝนในพื้นที่ และเป็นที่รองรับน้ำจากทั้งแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลตอนบนอีก ดังนั้นอุบลราชธานีต้องเผชิญน้ำท่วมอีกนาน ด้วยความเป็นห่วงประชาชนที่ประสบอุทกภัยในด้านความเป็นอยู่ ตนจึงต้องลงมาดูแล และได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการจัดการดูแลการดำรงชีวิตของผู้ประสบอุทกภัยให้ทั่วถึง ต้องส่งอาหาร น้ำดื่ม ให้ประชาชนอย่าได้ขาด ดูแลเรื่องห้องน้ำของประชาชนทั้งในศูนย์พักพิงและที่ยังอยู่ที่บ้าน ต่อจากนั้นต้องเร่งสูบน้ำที่ท่วมขัง ไม่งั้นชาวบ้านจะต้องอยู่กับน้ำเสีย เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะดำเนินการซ่อมบ้าน และดูแลเรื่องการทำการเกษตรในปีต่อไป โดยจะมีมาตรการดูแลพิเศษให้

ทั้งนี้ระหว่างการพบปะประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังได้สอบถามความต้องการ และการได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างใกล้ชิด โดยนางสาวอัจจิมา สาระคำ อายุ 32 ปี ชาวชุมชนกุดเป่ง หมู่ 6 เทศบาลเมืองวารินชำราบ เผยว่าบ้านตนถูกน้ำท่วมมาร่วม 1 เดือนแล้ว งานก็ไม่ได้ไปทำเพราะน้ำท่วมเดินทางลำบาก จึงอยากให้มีการดูแลเรื่องอาหารปรุงสุกให้ได้ทุกวัน วันละครั้งก็ได้ เพราะครอบครัวตนมีกันถึง 8 ชีวิต ถุงยังชีพก็ได้บ้าง แต่ยังขาดแคลนอาหารปรุงสุก เพื่อจะได้ลดค่าใช้จ่าย ลดความเดือดร้อนในช่วงนี้ด้วย

ภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีการกำชับพื้นที่ให้เข้ามาดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ให้มีการจัดการให้ดีขึ้น จากนั้นได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากบ้านฮ่องอ้อ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวดอนปูตา เทศบาลตำบลท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร ตามลำดับ

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจำนวน 19 อำเภอ จากทั้งหมด 25 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม นาจะหลวย น้ำยืน ทุ่งศรีอุดม น้ำขุ่น ม่วงสามสิบ ตาลสุม เขื่องใน ดอนมดแดง ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ เหล่าเสือโก้ก สำโรง นาเยีย สิรินธร และอำเภอบุณฑริก แยกเป็น ด้านการดำรงชีพ ได้รับผลกระทบ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ ดอนมดแดง ตระการพืชผล เดชอุดม สำโรง เขื่องใน ตาลสุม ทุ่งศรีอุดม และอำเภอสิรินธร จำนวน 42 ตำบล 253 หมู่บ้าน 18,178 ครัวเรือน 78,553 คน ถนน 157 สาย สะพาน/คอสะพาน 11 แห่ง วัด/ที่พักสงฆ์ จำนวน 82 แห่ง รพ.สต. 7 แห่ง โรงเรียน 52 แห่ง

แม่น้ำชีล้นตลิ่งร้อยเอ็ด ขยายวงถึง อ.เชียงขวัญ

น้ำท่วมร้อยเอ็ดกระทบ 15 อำเภอ ล่าสุด แม่น้ำชีที่บ้านวังยาว-วังเจริญ ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ ล้นตลิ่งท่วมหมู่บ้าน 150 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย ชาวบ้านอาศัยถุงยังชีพประทังชีวิต น้ำก็ต้องซื้อดื่ม

จากกรณีเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ลดการระบายน้ำ เหลือเป็น 52 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ประกอบกับแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เกินปริมาณกักเก็บในหลายแห่ง ส่งผลให้มวลน้ำชีล้นตลิ่งจนเกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ล่าสุดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่อุทกภัย รวม 15 อําเภอ 93 ตําบล 743 หมู่บ้าน 14,615 ครัวเรือน ถนน 7 สาย วัด 30 แห่ง โรงเรียน 13 แห่ง รพ.สต. 4 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 27,691 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 306,657 ไร่ ทั้งนี้ แม้พนังกั้นลำน้ำชีของบ้านสะดำศรี ตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จะขาดลงแต่ก็เป็นเพียงการตัดยอดน้ำ แต่มวลน้ำที่ไหลเข้าพื้นที่อำเภอจังหาร ล่าสุดได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนลุ่มต่ำติดแม่น้ำชีในอำเภอโพธิ์ชัยและอำเภอเชียงขวัญ

ล่าสุด สถานีบ้านม่วงลาด อ.จังหาร ระดับแม่น้ําชีสูงกว่าตลิ่ง 1.87 ม. (-50 ซม.) สถานีบ้านวังยาว-หนองแก่ง อ.เชียงขวัญ สูงกว่าตลิ่ง 2.01 ม. (+0.4 ซม.) และสถานีบ้านท่าสะแบง อ.ทุ่งเขาหลวง สูงกว่าตลิ่ง 1.12 ม. (+0.6 ซม.) โดยมวลน้ำก้อนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่พื้นที่อำเภอเชียงขวัญ ส่งผลให้น้ำท่วมในพื้นที่ 3 ตําบล 9 หมู่บ้าน 185 ครัวเรือน ได้แก่พื้นที่ ต.เชียงขวัญ ต.พระธาตุ ต.พลับพลา โดยมีประชาชนเข้าไปอยู่ศูนย์พักพิงแล้ว 9 จุด ริมถนนแนวกั้นคันพนังแม่น้ำชี

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 ต.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยัง บ้านวังยาว-วังเจริญ ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำล่าสุดพบว่า มวลน้ำชีที่ล้นตลิ่งได้ท่วมหมู่บ้าน จำนวน 150 ครัวเรือน

สอบถามชาวบ้าน กล่าวว่า มวลน้ำชีได้เริ่มทะลักเข้าท่วมหมู่บ้าน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม ซึ่งน้ำเริ่มท่วมจากถนนเส้นท้ายของหมู่บ้านและเริ่มขยายวงกว้าง จนเหลือเพียงถนนคอสะพาน ที่สร้างเพิงพักอาศัย ซึ่งชาวบ้านเองก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากนาข้าวที่ได้ทำเสร็จไปก็ถูกน้ำท่วมติดต่อกัน ไม่มีข้าวไว้กินในครัวเรือน ก็ต้องออกหาปลาก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้องอาศัยถุงยังชีพเพื่อหุงหาอาหารประทังชีวิต ซึ่งระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะต้องข้ามสะพานไปสร้างเพิงพักใหม่ ส่วนเรื่องอุปโภคบริโภคชาวบ้านก็ไม่สามารถใช้สุขาได้ตามปกติ น้ำดื่มก็ต้องซื้อกินแบบถังต้องอาศัยเรือของกู้ภัยเพราะน้ำท่วมสูง ก็อยากให้จัดสุขาเคลื่อนที่และน้ำดื่มให้ชาวบ้านด้วย


ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2529611

ซับน้ำตาประชาชน!! ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด ลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบน้ำท่วม 

เมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม 2565) เวลา 14.00 น. นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่อำเภอโพนทราย เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่เข้ามาพักอาศัยในศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยหอประชุมที่ว่าการอำเภอโพนทราย จากสถานการณ์แม่น้ำมูลหนุนสูงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนอยู่อาศัยของประชาชน ครอบคลุมพื้นที่อำเภอโพนทราย ทั้ง 5 ตำบล 37 หมู่บ้าน จนทำให้บางหมู่บ้านถูกน้ำท่วมรอบหมู่บ้านจนไม่สามารถเดินทางได้ และต้องใช้เรือในการสัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้สั่งการให้เร่งอพยพผู้สูงอายุ เด็ก สตรี มายังศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัย ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอโพนทราย และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างรวดเร็วที่สุดและให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด 


© Copyright 2022, All rights reserved. Esan Time Thailand
Take Me Top