22 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 ท่อนซุงและโคลนถล่ม ‘กะทูน’ อ.พิปูน โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ

ย้อนไปเมื่อ 34 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติ หลังฝนตกหนักพัดพาดินโคลนและท่อนซุง ถล่มหมู่บ้านในตำบลกะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช คร่าชีวิตหลายร้อยคน

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดเหตการณ์ดินโคลนและท่อนซุงที่ไหลมากับน้ำถล่มบ้านเรือนเสียหายไปกว่า 1,500 หลัง พื้นที่การเกษตรอีก 6,150 ไร่ มีผู้เสียชีวิตถึง 700 คน ผู้คนที่รอดชีวิตต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเดิม และไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่ได้อีก

ก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นราว 3-4 วัน ได้เกิดพายุดีเพรสชั่น มีฝนตกปรอยๆ ต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ดินบนภูเขาซับน้ำไว้จนชุ่มโชก และเมื่อฝนยังเพิ่มปริมาณน้ำอีกไม่หยุด ดินที่รับน้ำหนักไว้มากจนเกินกำลัง ก็ลื่นไถลลงมาตามทางลาด ทำให้ดินที่อยู่ด้านล่างต้องถล่มลงมาด้วย พร้อมต้นไม้ป่าและต้นยางพาราที่ชาวบ้านขึ้นไปปลูกไว้บนเขาถูกถอนรากถอนโคน กลายเป็นอาวุธของกระแสน้ำกวาดบ้านเรือนและชีวิตผู้คนไปกับกระแสน้ำ อีกทั้งยังมีโคลนดินตามมาถล่มทับ

นอกจากนี้ ตำบลกะทูนซึ่งภูมิประเทศเป็นแอ่งรับน้ำมีพื้นที่ 70 ตารางกิโลเมตรนี้ มีลำธารหลายสายรับน้ำจากเชิงเขาโดยรอบมารวมลงในคลองกระทูน แต่มีทางน้ำไหลออกกว้างเพียง 70 เมตรเท่านั้น เมื่อถูกต้นไม้บนเขาและไม้ในสวนที่ชาวบ้านปลูกไหลมาปิดทางน้ำออก ระดับน้ำในแอ่งกะทูนจึงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝังกลบทุกสิ่งทุกอย่างและทุกชีวิตไว้ใต้น้ำ

เมื่อฝนหยุดน้ำลด แอ่งกะทูนได้กลายเป็นแผ่นดินโคลน ทำให้การขุดหาซากศพเป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งหน่วยกู้ภัยจากทุกทิศได้หลั่งไหลมาช่วย ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ก็บินวนหาคนที่รอดชีวิตทั้งวัน

ขณะที่ชาวบ้านทั้งหมดไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่แหล่งอาศัยเดิมได้ ต้องย้ายไปหาที่อยู่ใหม่อย่างคนสิ้นหวัง ขณะสิ้นเนื้อประดาตัว

แต่ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ‘พ่อหลวงของปวงไทย’ ได้โปรดเกล้าฯให้กรมชลประทานสร้าง ‘อ่างเก็บน้ำกะทูน’ ขึ้นในที่ประสบภัย แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2540 พร้อมกับจัดระบบนิเวศใหม่ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ เป็นแหล่งรับน้ำป่าจากเทือกเขา ป้องกันอุทกภัยและเอื้อความชุ่มฉ่ำให้แหล่งเพาะปลูกในพื้นที่โดยรอบ ทำให้กะทูนกลับเป็นแหล่งสมบูรณ์พูนสุข อีกทั้งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว สัมผัสเทือกเขาและสายหมอกเหนือทะเลสาบ จนได้ฉายา ‘สวิตเซอร์แลนด์แดนใต้’

นอกจากนี้ ภายหลังโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ทำให้รัฐบาล ได้มีมติให้ยกเลิกการทำสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศอีกด้วย