Sunday, 5 May 2024
แม่น้ำโขง

กระตุ้นเศรษฐกิจ! นครพนม เปิดตลาดถนนคนเดินหมู่บ้านวัฒนธรรม 8 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ วันแรกสุดคึกคัก!!

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่บริเวณหมู่บ้านวัฒนธรรม 8 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ถนนชายโขง ริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ทราบข่าวว่า สถานที่แห่งนี้จะมีการเปิดตลาดถนนคนเดินให้พ่อค้าแม่ขายได้ ได้นำสินค้าพื้นเมือง สินค้าโอทอป สินค้าเกษตรจากชุมชนมาจำ หน่ายในทุกวันพฤหัสบดี เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยว ได้รู้จักกับบ้านโบราณวิถีชีวิตชนเผ่าของจังหวัดนครพนม ที่มีการจัดสร้างขึ้นด้วยความสวยงามตามแบบวิถีชีวิต 8 ชนเผ่า เพื่อแสดงให้เห็นถึง เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่า

โดยก่อนทำพิธีเปิดได้มีการจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับชมเป็นการสร้างความประทับใจ ทั้งศิลปะการแสดงแสกเต้นสากและการรำของแต่ละชนเผ่า จากนั้นจึงได้แยกย้ายกันไปเยี่ยมชมและจับจ่ายซื้อหาสินค้า ที่พ่อค้าแม่ค้า 12 อำเภอ นำมาวางจำหน่ายรวมกันกว่า 102 ร้าน ซึ่งมีให้เลือกทั้งของรับประทานอาหารพื้นถิ่น, เครื่องดื่ม, พืชผัก, ผลไม้, เสื้อผ้า, เครื่องแต่งกาย, ของฝาก, ของที่ระลึก และอื่น ๆ อีกมากมาย

นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในการเปิดตลาดถนนคนเดินหมู่บ้านวัฒนธรรม 8 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ นครพนม ครั้งแรกในวันนี้ ตอนแรกคาดการณ์กับนายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเทศ บาลเมืองนครพนม ไว้ว่าคงมีประชาชนและนักท่องเที่ยว มาเดินชมและจับจ่ายสินค้าประมาณ 300 – 400 คน เท่านั้น แต่กับผิดคาดไปมาก เพราะตั้งแต่เริ่มตั้งร้านก็มีผู้ที่สนใจมาเลือกซื้อหาสินค้ากันเรื่อย ๆ กระทั่งเวลาเปิดงานก็มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเต็มพื้นที่ จึงถือเป็นปฐมฤกษ์ที่ดีสำหรับการเปิดตลาดในวันแรก

ชาวไทย-ลาว แห่ร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากน้ำโขง เปิดงานนมัสการพระธาตุพนม ประจำปี 2566 คับคั่ง!!

พลังศรัทธาล้นสองฝั่งโขง ชาวพุทธไทย-ลาวนับหมื่นเดินทางร่วมพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากลำน้ำโขงแห่ประดิษฐาน ณ วิหารหอพระแก้ว เปิดงานนมัสการพระธาตุพนม 2566 อย่างเต็มรูปแบบ หลังจัดแบบรักษาระยะห่างคุมเข้มโควิดระบาดมานาน 2 ปี คาดตลอด 9 วันการจัดงานชาวไทย-ลาวไม่ต่ำกว่าแสนร่วมนมัสการพระธาตุพนม

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2566 ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ท่าเทียบเรือด่านศุลกากรข้ามฟากระหว่างประเทศไทย-ลาว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของอำเภอธาตุพนม พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร/ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2/ส.ส.นครพนม นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รอง ผวจ.นครพนม นางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายก อบจ.นครพนม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ นำพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทย-ลาว นับหมื่นคนที่เบียดเสียดกันเต็มริมตลิ่งจนไม่มีที่เดิน

ตลอดจน “ข้าโอกาส” พระธาตุพนม ร่วมประกอบพิธีอัญเชิญพระอุปคุตจากใต้บาดาลแม่น้ำโขง หลังอัญเชิญก็แห่ไปตามถนนกุศลรัษฎากร เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วิหารหอพระแก้ว ด้านหน้าองค์พระธาตุพนมฯ ซึ่งพิธีดังกล่าวเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมีการรำบวงสรวงไปตลอดเส้นทางในการแห่พระอุปคุต

งานนมัสการองค์พระธาตุพนมปี 66 จัดขึ้นในวันที่ 29 ม.ค. 66 ถึงวันที่ 6 ก.พ. 66 เป็นเวลา 9 วัน 9 คืนจัดยิ่งใหญ่เต็มรูปแบบหลังพ้นวิกฤตแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยงานวันแรก วันนี้ (29 ม.ค.) พิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำโขงมีดารานักร้องชื่อดังเข้าร่วมขบวนแห่หลายคน ตลอด 9 วันที่จัดงานคาดว่าจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวลาวเข้าร่วมนมัสการองค์พระธาตุนับแสนคน

โดยพิธีเริ่มตามฤกษ์เวลา 08.00 น. พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา จากนั้น นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม กล่าวคำอัญเชิญพระอุปคุต ที่ตามตำนานกล่าวว่าท่านจำศีลภาวนาอยู่ใต้บาดาล โดยมีผู้ดำน้ำลงไปอัญเชิญ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายปรัตถกร บุลาวรรณกร นายอำเภอธาตุพนม พล.ร.ต.สมาน ขันธพงษ์ ผบ.นรข. พ.อ.สมหมาย บุษบา รอง ผบ.มทบ.210 พ.ต.อ.จุลฤทธิ์ จุลกะ รอง ผบก.ภ.จว.นครพนม นายสัญชัย ธ.น.ตื้อ นายกเทศมนตรีตำบลธาตุพนม เพื่อนำมาส่งให้แก่ นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม ที่ยืนรออยู่บนปะรำพิธี

13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ไทยเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้ ฝรั่งเศส แลกการถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี

วันนี้ เมื่อ 120 ปีก่อน ไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง ตรงข้ามเมืองจำปาศักดิ์ และเมืองมโนไพรฝั่งให้ฝรั่งเศส แลกกับเมืองจันทบุรี ที่ฝรั่งเศสยึดไว้ตั้งแต่เหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2437)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453) การแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกรุนแรง และแข็งกล้า ยิ่งกว่าสมัยใดๆ..... มหาอำนาจตะวันตกที่คอยคุกคามไทยทางด้านตะวันออกคือ.....ฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสได้ขยายอำนาจมาทางตะวันออกของแหลมอินโดจีน จนครอบครองญวนทั้งประเทศ รวมทั้งเขมรส่วนนอก ทั้งหมดด้วย แต่ความต้องการของฝรั่งเศสไม่ได้หยุดนิ่งแค่นั้น ยังมีความต้องการที่จะครอบครองดินแดนที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีดินแดนบางส่วนที่อยู่ภายใต้ครอบครองของไทย การขยายตัวของฝรั่งเศส จึงสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยเรื่อยมา.......โดยเฉพาะ.. ความพยายามที่จะ แทรกแซงในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำ โขง ในระยะแรกฝรั่งเศสได้แทรกแซงโดยวิธีการทูต แต่เมื่อเห็นว่าไม่ประสบผลสำเร็จจึงใช้นโยบายเรือปืนข่มขู่ไทย บริเวณปากแม่น้ำ ในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤตกาลที่เรียกว่า "วิกฤตกาล ร.ศ. 112" เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 ผลของการรบปรากฏว่าฝ่ายไทยยอมจำนน และทำสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2436

ตามสัญญาและอนุสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 นี้นอกจากจะทำให้ไทยจะต้องเสียดินแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเสียค่าปรับเป็นจำนวนมากแล้ว ฝรั่งเศสยังยึดจันทบุรีไว้เป็นหลักค้ำประกัน ตามสัญญาข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ว่า "ฝรั่งเศสจะยึดจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะปฏิบัติตาม สัญญา ดังกล่าวครบถ้วน และจนกว่าจะเกิดความสงบเรียบร้อยทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงในระยะ 25 กิโลเมตร"


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Esan Time Thailand
Take Me Top