Friday, 10 May 2024
โคราช

เช็กเลย! ตร.โคราช แนะเส้นทางเลี่ยงรถติดปีใหม่ 66 ถนนมิตรภาพมุ่งสู่ภาคอีสาน

วันนี้ (27 ธันวาคม 2565) ที่ สำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พลตำรวจโท สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตำรวจทางหลวง, แขวงทางหลวงนครราชสีมา, ศูนย์ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา, สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยกู้ภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกันเปิดศูนย์อำนวยความสะดวกการจราจร ป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566

เนื่องจากในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี พี่น้องประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีปริมาณรถยนต์ในเส้นทางต่าง ๆ มากกว่าช่วงเวลาปกติ ซึ่งพื้นที่รับผิดชอบของตำรวจภูธรภาค 3 เป็นพื้นที่รองรับปริมาณรถที่ออกจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคตะวันออก ผ่านไปสู่จังหวัดทางภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด โดยมีถนนมิตรภาพ และถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-นครราชสีมา เป็นเส้นทางหลักสำคัญ

ปักหมุด! “หนองไข่น้ำ” เหมาะสมสุด ผุด “ท่าเรือบกโคราช” 8 พันล้าน ดันโคราชศูนย์กลางโลจิสติกส์อีสาน

“สถานีรถไฟบ้านกระโดน” ตำบลหนองไข่น้ำ เหมาะสมสุด สร้าง “ท่าเรือบกโคราช” มีพื้นที่กว้าง 2,000ไร่ เป็นทุ่งนาไม่มีปัญหาเวนคืน ส่วน “กุดจิก” อำเภอสูงเนิน จุดเดิมมีปัญหาน้ำท่วม ด้าน กทท.ยัน ผุดแน่ท่าเรือบกโคราช 8 พันล้าน ดึงเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP คาดสร้างเสร็จปี 69-70 ดันโคราชเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคอีสาน

วันที่ 5 ม.ค. 2566 นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดนครราชสีมา หรือท่าเรือบกโคราช ว่า หลังจากคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยและคณะผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงมาดูพื้นที่แล้วพบว่าจุดที่เหมาะสมในการดำเนินการสร้างท่าเรือบก คือพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 2,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาชาวบ้าน และไม่น่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินและการจ่ายค่าชดเชยต่าง ๆ

สำหรับสถานที่ดังกล่าวนี้มีจุดขนส่งสินค้า (Container Yard :CY) เดิมตั้งอยู่แล้ว ปัจจุบันมีการขนส่งเกลือโดยเอกชน และยังเป็นจุดเชื่อมจากถนนวงแหวนรอบเมือง หมายเลข 290 ที่เชื่อมกับเส้นทางรถไฟได้ด้วย คาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท แต่จะเป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP-Public Private Partnerships)

ส่วนอีก 2 พื้นที่ คือ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา และบ้านทับม้า ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นั้นมีความเหมาะสมน้อยกว่า โดยเฉพาะที่ อ.สูงเนิน มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม หากมีการก่อสร้างอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบและจะมีปัญหาตามมาเพราะมีพื้นที่ชุมชนอยู่ด้วย

นายภูมิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่การท่าเรือฯ จะว่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นทีมที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (นครราชสีมา) ในการศึกษาทบทวนพื้นที่ ต.หนองไข่น้ำ เพื่อลงในรายละเอียดต่าง ๆ ให้สมบูรณ์แบบ และเดินหน้าในการก่อสร้างต่อไป

“โครงการจัดตั้งท่าเรือบกโคราชจะเริ่มได้พร้อมกับโครงการจัดตั้งท่าเรือบกขอนแก่น หรือทำคู่ขนานกันไป ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา เรามีความพร้อมให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้โคราชเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายภูมิสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการจัดตั้งท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา สืบเนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมจะพัฒนาท่าเรือบกมี 4 จังหวัด ได้แก่ 1.) อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 70 กิโลเมตร 2.) ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง 720 กิโลเมตร 3.) อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง 550 กิโลเมตร และ 4.) อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง 370 กิโลเมตร

การลงทุนจะเป็นในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP-Public Private Partnerships) โดยรัฐจะจัดหาที่ดิน ซึ่งต้องดูความเหมาะสม เพราะใช้พื้นที่จำนวนมาก อาจเป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว หรือต้องเวนคืนเพิ่มเติม ส่วนเอกชนทำหน้าที่บริหารจัดการ

โดยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติและมีการศึกษาความเหมาะสมในพื้นที่ตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน แล้ว แต่ต่อมาเนื่องจากสถานการณ์และบริบทหลายอย่างเปลี่ยนไป จังหวัดนครราชสีมาจึงนำเสนอพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา และบ้านทับม้า ตำบลสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

ทางด้าน นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีท่าเรือบกในโคราช ซึ่งเดิมทีศึกษาไว้ที่พื้นที่ตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน แต่ปัจจุบันด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ล่าสุดทาง กทท.ได้ลงไปดูพื้นที่ ทำให้เห็นถึงศักยภาพของโคราชและความพร้อมเรื่องของบุคลากร นโยบาย โดยทุกหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมาให้การสนับสนุนเต็มที่ ส่วนการท่าเรือนั้น หลังจากนี้จะต้องมีการปรึกษากันอีก ถ้ามีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่จัดตั้งโครงการต้องเสนอเรื่องใหม่ให้ ครม.เห็นชอบ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน ไป ต.หนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา หรือบ้านทับม้า อ.สีคิ้ว ที่ใดที่หนึ่ง ทั้งนี้ ต้องมาดูว่าศักยภาพเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องการลงทุนอาจจะสูงในหลายเรื่อง จึงต้องมาปรึกษากันว่าที่ใดเหมาะสมที่สุด

นายสมชายกล่าวต่อว่า ท่าเรือบกทำแน่ ๆ ให้ความเชื่อมั่นได้เลยว่าที่โคราชต้องมี ส่วนที่จังหวัดอื่นไม่ได้ทิ้ง ซึ่งในแต่ละพื้นที่สินค้าจะต่างกัน ความสำคัญก็ต่างกันไป แต่ใครจะเป็นศูนย์กลางนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับเราจะหาผู้ที่มาร่วมลงทุนกับการท่าเรือในรูปแบบ PPP

สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างท่าเรือบกโคราชนั้น เดิมที สนข.พิจารณาไว้ว่าประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท แต่หากศึกษาใหม่อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะเดิมศึกษาไว้ 3-4 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการประมาณโดยใช้ค่าเงินในตอนนั้น หรืออาจจะลดลง เพราะพื้นที่โครงการที่ สนข.ศึกษาประมาณ 2,000 ไร่ ความจริงใช้แค่ 1,000 ไร่ก็เพียงพอ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ มีคลังสินค้า มีครบทุกอย่าง เรื่องงบประมาณต้องศึกษาต่อไป และอาจจะมีบุคคลที่สามมาทำการศึกษาให้

'เกษตรโคราช' ปลื้ม! กรมปศุสัตว์ให้การสนับสนุน ธุรกิจเลี้ยงโคเนื้อปราณีต โกยรายได้นับล้านต่อปี!!

(นครราชสีมา) สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ครบุรี โคราช ได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์รายละ 2.5 แสนบาท เลี้ยงโคเนื้อแบบปราณีต โครงการ 7 ปี มีโคเนื้อคุณภาพดีกว่า 90 ตัว สร้างรายได้ปีละหลายแสนบาทต่อราย บางรายมีรายได้หลักล้าน ยังผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์แพ็กถุงส่งขายให้กับร้านขายไม้ประดับด้วย

วันที่ 26 ม.ค. 2566 นายบัญชา ชุติมันตานนท์ ปศุสัตว์อำเภอครบุรี นำทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์เขต 3 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพืชอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์ ตำบลสระว่านพระยา อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ที่เข้าร่วมโครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะที่ 2 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 ราย

โดยสมาชิกทั้ง 9 รายได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางกรมปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพรายละ 250,000 บาท โดยผลการดำเนินการของกลุ่มเกษตรกรฯ ดังกล่าวเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว จากระยะเวลาโครงการทั้งหมด 7 ปี เกษตรกรทั้งกลุ่มได้เลี้ยงโคเนื้อแบบปราณีต เพื่อจำหน่ายโคเนื้อคุณภาพไปแล้วกว่า 100 ตัว จากเดิมที่เริ่มต้นโครงการที่มีโคเนื้อเพียง 45 ตัว สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 2.5 ล้านบาท ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรฯ กลุ่มนี้ยังมีโคเนื้อคุณภาพดีที่ยังเลี้ยงอยู่กว่า 90 ตัว และมีการดำเนินการเพาะขยายพันธุ์เพื่อสร้างโคเนื้อคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ขณะเดียวกันทางกลุ่มฯ ยังมีรายได้เพิ่มจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ โดยแพ็กถุงส่งจำหน่ายให้กับร้านขายไม้ประดับอีกด้วย ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นอย่างมาก


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Esan Time Thailand
Take Me Top