ปักหมุด! “หนองไข่น้ำ” เหมาะสมสุด ผุด “ท่าเรือบกโคราช” 8 พันล้าน ดันโคราชศูนย์กลางโลจิสติกส์อีสาน

“สถานีรถไฟบ้านกระโดน” ตำบลหนองไข่น้ำ เหมาะสมสุด สร้าง “ท่าเรือบกโคราช” มีพื้นที่กว้าง 2,000ไร่ เป็นทุ่งนาไม่มีปัญหาเวนคืน ส่วน “กุดจิก” อำเภอสูงเนิน จุดเดิมมีปัญหาน้ำท่วม ด้าน กทท.ยัน ผุดแน่ท่าเรือบกโคราช 8 พันล้าน ดึงเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP คาดสร้างเสร็จปี 69-70 ดันโคราชเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคอีสาน

วันที่ 5 ม.ค. 2566 นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดนครราชสีมา หรือท่าเรือบกโคราช ว่า หลังจากคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยและคณะผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ลงมาดูพื้นที่แล้วพบว่าจุดที่เหมาะสมในการดำเนินการสร้างท่าเรือบก คือพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่เกือบ 2,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาชาวบ้าน และไม่น่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินและการจ่ายค่าชดเชยต่าง ๆ

สำหรับสถานที่ดังกล่าวนี้มีจุดขนส่งสินค้า (Container Yard :CY) เดิมตั้งอยู่แล้ว ปัจจุบันมีการขนส่งเกลือโดยเอกชน และยังเป็นจุดเชื่อมจากถนนวงแหวนรอบเมือง หมายเลข 290 ที่เชื่อมกับเส้นทางรถไฟได้ด้วย คาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท แต่จะเป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP-Public Private Partnerships)

ส่วนอีก 2 พื้นที่ คือ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา และบ้านทับม้า ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นั้นมีความเหมาะสมน้อยกว่า โดยเฉพาะที่ อ.สูงเนิน มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม หากมีการก่อสร้างอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรอบและจะมีปัญหาตามมาเพราะมีพื้นที่ชุมชนอยู่ด้วย

นายภูมิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่การท่าเรือฯ จะว่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นทีมที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (นครราชสีมา) ในการศึกษาทบทวนพื้นที่ ต.หนองไข่น้ำ เพื่อลงในรายละเอียดต่าง ๆ ให้สมบูรณ์แบบ และเดินหน้าในการก่อสร้างต่อไป

“โครงการจัดตั้งท่าเรือบกโคราชจะเริ่มได้พร้อมกับโครงการจัดตั้งท่าเรือบกขอนแก่น หรือทำคู่ขนานกันไป ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา เรามีความพร้อมให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อให้โคราชเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นายภูมิสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการจัดตั้งท่าเรือบกจังหวัดนครราชสีมา สืบเนื่องจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมจะพัฒนาท่าเรือบกมี 4 จังหวัด ได้แก่ 1.) อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 70 กิโลเมตร 2.) ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง 720 กิโลเมตร 3.) อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง 550 กิโลเมตร และ 4.) อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง 370 กิโลเมตร

การลงทุนจะเป็นในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP-Public Private Partnerships) โดยรัฐจะจัดหาที่ดิน ซึ่งต้องดูความเหมาะสม เพราะใช้พื้นที่จำนวนมาก อาจเป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว หรือต้องเวนคืนเพิ่มเติม ส่วนเอกชนทำหน้าที่บริหารจัดการ

โดยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาอนุมัติและมีการศึกษาความเหมาะสมในพื้นที่ตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน แล้ว แต่ต่อมาเนื่องจากสถานการณ์และบริบทหลายอย่างเปลี่ยนไป จังหวัดนครราชสีมาจึงนำเสนอพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา และบ้านทับม้า ตำบลสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

ทางด้าน นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้มีท่าเรือบกในโคราช ซึ่งเดิมทีศึกษาไว้ที่พื้นที่ตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน แต่ปัจจุบันด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ล่าสุดทาง กทท.ได้ลงไปดูพื้นที่ ทำให้เห็นถึงศักยภาพของโคราชและความพร้อมเรื่องของบุคลากร นโยบาย โดยทุกหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมาให้การสนับสนุนเต็มที่ ส่วนการท่าเรือนั้น หลังจากนี้จะต้องมีการปรึกษากันอีก ถ้ามีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่จัดตั้งโครงการต้องเสนอเรื่องใหม่ให้ ครม.เห็นชอบ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน ไป ต.หนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา หรือบ้านทับม้า อ.สีคิ้ว ที่ใดที่หนึ่ง ทั้งนี้ ต้องมาดูว่าศักยภาพเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องการลงทุนอาจจะสูงในหลายเรื่อง จึงต้องมาปรึกษากันว่าที่ใดเหมาะสมที่สุด

นายสมชายกล่าวต่อว่า ท่าเรือบกทำแน่ ๆ ให้ความเชื่อมั่นได้เลยว่าที่โคราชต้องมี ส่วนที่จังหวัดอื่นไม่ได้ทิ้ง ซึ่งในแต่ละพื้นที่สินค้าจะต่างกัน ความสำคัญก็ต่างกันไป แต่ใครจะเป็นศูนย์กลางนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับเราจะหาผู้ที่มาร่วมลงทุนกับการท่าเรือในรูปแบบ PPP

สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างท่าเรือบกโคราชนั้น เดิมที สนข.พิจารณาไว้ว่าประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท แต่หากศึกษาใหม่อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะเดิมศึกษาไว้ 3-4 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการประมาณโดยใช้ค่าเงินในตอนนั้น หรืออาจจะลดลง เพราะพื้นที่โครงการที่ สนข.ศึกษาประมาณ 2,000 ไร่ ความจริงใช้แค่ 1,000 ไร่ก็เพียงพอ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ มีคลังสินค้า มีครบทุกอย่าง เรื่องงบประมาณต้องศึกษาต่อไป และอาจจะมีบุคคลที่สามมาทำการศึกษาให้

นายสมชายกล่าวว่า แม้ขณะนี้ ครม. อนุมัติโครงการจัดตั้งท่าเรือโคราช ที่ตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน ไปแล้ว แต่ด้วยข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทางโคราชจึงเสนอว่ามีอีก 2 แห่ง คือ ตำบลหนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา และบ้านทับม้า ตำบลสีคิ้ว อ.สีคิ้ว ซึ่งทาง กทท.ได้ลงพื้นที่แล้ว ทุกที่มีความน่าสนใจมาก แต่ถ้าให้ฟันธงวันนี้อาจเอนเอียงไปทางตำบลหนองไข่น้ำ เป็นศูนย์กลางในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้บุคคลที่สามศึกษาให้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ต้องเอามาประกอบด้วย หลังจากนี้จะให้บุคคลที่สามศึกษาข้อมูลในการทำ PPP เพื่อบอกว่าจะทำในรูปแบบใด งบประมาณเท่าไหร่ รูปแบบเชิงธุรกิจ ปริมานของสินค้าเท่าไหร่ แต่บุคคลที่สามไม่ใช่ผู้ตัดสินใจเพียงผู้เดียว จะมีการท่าเรือ องค์กรท้องถิ่น ต้องช่วยกันดู โดยใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน

"ทั้งนี้ สนข.คาดการณ์ไว้ว่าท่าเรือบกโคราชจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568 แต่วันนี้อาจจะมีความล่าช้า ทำให้เลื่อนไปปี 2569 หรือ 2570 แต่ถ้ามีความชัดเจนเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง ปี 2569 ก็อาจจะสำเร็จ หากเปลี่ยนพื้นที่จะต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ถึงอย่างไรไม่คิดว่าจะนาน เพราะเรามีกระบวนการที่แน่นอนแล้ว อย่างไรก็ยืนยันว่าทำท่าเรือบกที่โคราชแน่นอน เพียงแต่ระยะเวลานั้นอยู่ที่แต่ละหน่วยงานจะผลักดันมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับจังหวัดนครราชสีมาว่าจะย่นระยะเวลามากแค่ไหน แต่ไม่ต้องห่วง จัดทำที่โคราชแน่นอน" นายสมชายกล่าวในตอนท้าย

ทางด้าน นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นผู้ประกอบการส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า ภาคอีสานมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 7,997 โรงงาน อยู่ที่โคราช 1,705 โรงงาน อีสานใต้ 4,162 โรงงาน หมายความว่าโรงงานอุตสาหกรรมใน 20 จังหวัดของภาคอีสาน อยู่ในอีสานใต้ 52 % แยกเป็นโคราช 21% หากลงลึกไปอีก โคราชมี 32 อำเภอ แต่โรงงานไม่ได้กระจายตัวทั่วถึง ซึ่งวงแหวนอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาอยู่บนถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ประกอบด้วย 5 อำเภอ ได้แก่ 1.) อำเภอเมืองนครราชสีมา 491 โรงงาน 2.) อำเภอสูงเนิน 113 โรงงาน 3.) อำเภอโชคชัย 104 โรงงาน 4.) อำเภอปักธงชัย 91 โรงงาน และ 5.) อำเภอขามทะเลสอ 56 โรงงาน

หากเทียบกับ จ.ขอนแก่นทั้งจังหวัดมีทั้งหมด 788 โรงงาน จึงเป็นที่มาว่าทำไม 5 อำเภอนี้ถึงมีความสำคัญอย่างมาก โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานอยู่ที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ในภาคอีสานจะมีโรงงานการปรับปรุงคุณภาพข้าวอยู่จำนวนหนึ่ง แต่โดยส่วนใหญ่จะถูกส่งไปที่ภาคกลางเพื่อบรรจุ ดังนั้นในอนาคตโรงงานต่าง ๆ จะเริ่มตั้งโรงงานการปรับปรุงคุณภาพข้าวในภาคอีสาน เพื่อบรรจุข้าวให้เสร็จและทำการส่งออก จะทำให้มีความคุ้มค่าในการขนส่ง อนาคตเชื่อว่าการลงทุนในภาคอีสานใต้มีเพิ่มขึ้น

"โคราชเหมาะสมที่สุด ในการเป็นศูนย์กลางและเมืองหลวงของอีสาน ในด้านโลจิสติกส์ ความพร้อม ศักยภาพ และการลงทุนนั้นมีความคุ้มค่าอย่างมาก ซึ่งหลังจากได้ลงพื้นที่หนองไข่น้ำ สถานีรถไฟบ้านกระโดนติดถนนหมายเลข 209 น้ำไม่ท่วม และสามารถเชื่อมต่อทุกทิศทางโดยไม่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา การติดต่อจากกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศ มีความสะดวก จึงขอฝากการท่าเรือฯ พิจารณาในการตัดสินใจในแต่ละพื้นที่ โดยอ้างอิงจากความเป็นจริง" นายหัสดินกล่าว

ที่มา : https://mgronline.com/local/detail/9660000001093