เกษตรกรรุ่นใหม่เมืองน้ำดำ ไม่ง้อปุ๋ยเคมีแพง คิดสูตรเองปรุงปุ๋ยคอก ลดต้นทุน

(16 ม.ค. 66) หนุ่มเมืองน้ำดำ อดีตดีเจวิทยุ วางไมค์หยุดขายเสียง หันมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว แต่ต้องเจอปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง กระสอบละ 1,400-1,500 บาท ทำต้นทุนการผลิตสูง เสี่ยงขาดทุน ซ้ำดินเสื่อมโทรม ลองผิดลองถูกจนสามารถคิดค้นปุ๋ยคอกสูตรใหม่ด้วยตัวเอง 'มูลควายผสมมูลหนู' บำรุงพืชเติบโตได้ดี ไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวน

จากการติดตามชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวกาฬสินธุ์ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตใช้น้ำชลประทาน เช่น อำเภอเขาวง, อำเภอนาคู ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก พบว่าเกษตรกรที่ขุดบ่อกักเก็บน้ำตามบ่อดินได้เริ่มลงมือเพาะปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนและขายในชุมชน สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว โดยพืชใช้น้ำน้อยที่นิยมปลูก เช่น ข้าวโพด, หอม, ผักชี, ผักกาด, ถั่วฝักยาว, มะเขือเทศ, พริก, พืชตระกูลแตง

จากการสอบถามพี่น้องเกษตรกรถึงปัญหาการทำเกษตรกรรม ต่างบอกว่าปัญหาหลัก ๆ ที่เกษตรกรยังประสบอยู่ซ้ำซาก แต่ไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาควบคุมราคาที่เป็นธรรม คือราคาปุ๋ยเคมีตามท้องตลาดที่ยังมีราคาสูงลิ่ว

นายพร้อมพงศ์ พิมเภา อายุ 36 ปี เกษตรกรบ้านแสนสุข เขตเทศบาลตำบลกุดสิม อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ตนเป็นเกษตรกรโดยสายเลือด เดิมใช้เวลาว่างไปจัดรายการเป็นดีเจวิทยุชุมชนแห่งหนึ่ง ในชื่อ 'บาสรณชัย หนุ่มเมืองน้ำดำ' เรตติ้งค่อนข้างสูง มีแฟนรายการประจำค่อนข้างเยอะ แต่ระยะหลังอาชีพเกษตรกรรมมีความหลากหลายมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มเติมด้วยการเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย และหนูนา จึงต้องให้เวลาอยู่กับแปลงพืชผักมากขึ้น ขณะที่การเป็นดีเจจัดรายการระยะหลังสปอนเซอร์ไม่เข้า ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป จึงหันหลังให้กับวงการขายเสียงหลังไมค์มาเป็นเกษตรกรเต็มตัว

อดีตดีเจวิทยุชุมชนรายนี้กล่าวอีกว่า การทำอาชีพเกษตรกรรมในยุคใหม่ที่ไหลไปตามกระแสตลาด เร่งผลผลิตแข่งกับเวลาและให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค เช่น มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และฮอร์โมนบำรุงพืชต่าง ๆ นอกจากเพิ่มต้นทุนการผลิตแล้ว ยังส่งผลข้างเคียงต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค คือเกิดสารพิษตกค้างและทำให้ดินเสื่อมโทรม

หลังสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว หักลบกลบหนี้แล้วพบว่าขาดทุน สาเหตุหลักคือค่าปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ กระสอบหนึ่งน้ำหนัก 50 กก. ราคาในปัจจุบัน 1,400-1,500 บาททีเดียว ระยะหลังตนจึงหันมาใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก แต่เดิมใช้เพียงมูลควายบำรุงพืช ตามวิถีเกษตรกรดั้งเดิม ทำให้พืชเจริญเติบโตดี ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย ลดรายจ่ายโดยไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีมาเสริม

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทำฟาร์มเลี้ยงหนูนามา 5 ปี ซึ่งทำให้เกิดมูลหนูนาจำนวนมาก จึงได้ทดลองนำมูลหนูนามาผสมกับปุ๋ยคอก เพื่อเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกให้เพียงพอต่อการนำไปบำรุงพืช ก็เห็นความแตกต่างหลายด้าน เหมือนเป็นการปรุงอาหารเมนูใหม่ให้กับพืชในแปลงเกษตร

ทำให้พืชที่ปลูก เช่น ข้าวโพด, หอม, ผักชี เติบโตเร็ว, รักษาความเขียว, สดชื่น, ทนแดด, มีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น ให้กลิ่นและมีรสชาติที่แตกต่างจากเดิม แมลงศัตรูพืชไม่รบกวน ถือเป็นการปรุงปุ๋ยคอกระหว่างมูลควายกับมูลหนูนาสูตรใหม่เจ้าแรกในพื้นที่นี้

“ที่สำคัญไม่ต้องเปลืองเงินไปซื้อปุ๋ยเคมี เมื่อเห็นผลดีดังกล่าว ในเวลาว่างก็จะนำมูลหนูนามาผสมกับมูลควายกักตุนไว้ สำหรับนำไปบำรุงต้นข้าวในฤดูกาลทำนาที่จะถึง” นายพร้อมพงศ์ กล่าว

ที่มา : https://mgronline.com/local/detail/9660000004521