Thursday, 2 May 2024
เกษตรกร

มข. ชวนมา 27 ม.ค. นี้! งานเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566 จัดเต็มนวัตกรรมเกษตร พร้อมปรับพื้นที่ฟาร์มจัดงาน สวยงามยิ่งใหญ่

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว การจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2566 โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดการแถลงข่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวแถลงกิจกรรมของคณะเกษตรศาสตร์ นายธงชัย คำโคตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 นายสรุพล ธัญญเจริญ ปศุสัตว์เขต 4 นายกมล โสพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแถลงกิจกรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการนี้มี ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ ห้อง 5101 อาคาร AG 05 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานวันเกษตรภาคอีสาน ถือได้ว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อสนองตอบต่อปณิธาน และ ปรัชญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ว่าจะเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นกิจกรรมใหญ่อีกกิจกรรมหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและของจังหวัดขอนแก่น ที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียน และเป็นแรงขับเคลื่อนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในจังหวัดได้เป็นอย่างดียิ่ง จากการจัดงานครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 มีประชาชนเข้าเที่ยวชมงานรวมกว่า 500,000 คน หรือโดยเฉลี่ยวันละ 50,000 คน และ มีเงินทุนหมุนเวียนภายในงานมากกว่า 500-600 ล้านบาท

“การจัดงานครั้งนี้ เป็นการจัดแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกหลังงดเว้นไป 2 ปีหลังจากสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย สำหรับการจัดงานงานวันเกษตรภาคอีสานเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยเพื่อตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล”

รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวว่า งานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2566 ปีนี้นับเป็นปีที่ 31 ของการจัดงาน โดยจัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “นวัตกรรมเกษตรอีสาน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุล ยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมสืบสานพระราชปณิธานภายใต้ร่มพระบารมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อแลกเปลี่ยนผลงานวิชาการและวิจัยทางการเกษตรของนักวิชาการทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและเกษตรกร เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขนาดกลางและขนาดย่อม

“ในส่วนของพื้นที่การจัดงาน ในปี 2566 คณะเกษตรศาสตร์ ได้มีการปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณโดยรอบอุทยานเทคโนโลยีการการเกษตร ได้แก่ การจัดทำรั้วคาวบอย การเพิ่มเลนจักรยาน และการจัดทำลู่วิ่งเพิ่มเติม จึงได้มีการปรับเปลี่ยนผังการจัดงานโดยการขยับพื้นที่การจัดงานลงมาทางด้านทิศใต้ของอาคารนิทรรศการจตุรมุข มีการเปิดพื้นที่บริเวณฟาร์มคณะเกษตรศาสตร์และบริเวณทิศตะวันออกของบริเวณจัดงานเป็นลานจอดรถเพิ่มเติม สามารถจอดได้ทั้งรถบัสขนาดใหญ่และรถยนต์ส่วนตัว รองรับจำนวนผู้ที่มาเยี่ยมชมงานในแต่ละวันได้เป็นอย่างดียิ่ง

รวมทั้งมีการให้บริการรถรางนำเที่ยวบริเวณรอบ ๆ พื้นที่จัดงานด้วย และหากผู้เข้าเยี่ยมชมงานต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดสามารถจอดรถบริเวณประตูหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นและนั่งรถเมล์ปรับอากาศฟรีสายสีเขียว (shuttle bus) เข้ามายังบริเวณการจัดงานได้ ฉะนั้นการจัดงานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2566 จึงเป็นทั้งความยิ่งใหญ่ของนวัตกรรมด้านการเกษตร และ ภูมิทัศน์ของพื้นที่จัดงานที่สวยงามมาก ๆ”

เกษตรกรรุ่นใหม่เมืองน้ำดำ ไม่ง้อปุ๋ยเคมีแพง คิดสูตรเองปรุงปุ๋ยคอก ลดต้นทุน

(16 ม.ค. 66) หนุ่มเมืองน้ำดำ อดีตดีเจวิทยุ วางไมค์หยุดขายเสียง หันมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว แต่ต้องเจอปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง กระสอบละ 1,400-1,500 บาท ทำต้นทุนการผลิตสูง เสี่ยงขาดทุน ซ้ำดินเสื่อมโทรม ลองผิดลองถูกจนสามารถคิดค้นปุ๋ยคอกสูตรใหม่ด้วยตัวเอง 'มูลควายผสมมูลหนู' บำรุงพืชเติบโตได้ดี ไม่มีแมลงศัตรูพืชรบกวน

จากการติดตามชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวกาฬสินธุ์ในฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตใช้น้ำชลประทาน เช่น อำเภอเขาวง, อำเภอนาคู ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก พบว่าเกษตรกรที่ขุดบ่อกักเก็บน้ำตามบ่อดินได้เริ่มลงมือเพาะปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนและขายในชุมชน สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว โดยพืชใช้น้ำน้อยที่นิยมปลูก เช่น ข้าวโพด, หอม, ผักชี, ผักกาด, ถั่วฝักยาว, มะเขือเทศ, พริก, พืชตระกูลแตง

จากการสอบถามพี่น้องเกษตรกรถึงปัญหาการทำเกษตรกรรม ต่างบอกว่าปัญหาหลัก ๆ ที่เกษตรกรยังประสบอยู่ซ้ำซาก แต่ไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาควบคุมราคาที่เป็นธรรม คือราคาปุ๋ยเคมีตามท้องตลาดที่ยังมีราคาสูงลิ่ว

นายพร้อมพงศ์ พิมเภา อายุ 36 ปี เกษตรกรบ้านแสนสุข เขตเทศบาลตำบลกุดสิม อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า ตนเป็นเกษตรกรโดยสายเลือด เดิมใช้เวลาว่างไปจัดรายการเป็นดีเจวิทยุชุมชนแห่งหนึ่ง ในชื่อ 'บาสรณชัย หนุ่มเมืองน้ำดำ' เรตติ้งค่อนข้างสูง มีแฟนรายการประจำค่อนข้างเยอะ แต่ระยะหลังอาชีพเกษตรกรรมมีความหลากหลายมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มเติมด้วยการเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย และหนูนา จึงต้องให้เวลาอยู่กับแปลงพืชผักมากขึ้น ขณะที่การเป็นดีเจจัดรายการระยะหลังสปอนเซอร์ไม่เข้า ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ใช้ไป จึงหันหลังให้กับวงการขายเสียงหลังไมค์มาเป็นเกษตรกรเต็มตัว

ตลาดนัดโค-กระบือภูดิน จ.กาฬสินธุ์ คึกคัก ศูนย์รวมนายฮ้อย เงินหมุนเวียนนับล้าน!!

ตลาดนัดโค-กระบือเทศบาลตำบลภูดิน อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ สุดคึกคัก จุดศูนย์รวมนายฮ้อยทั่วภาคอีสาน หลังเงียบเหงามานานกว่า 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ด้านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุ ตลาดนัดโค-กระบือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน และทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ค้าขายสัตว์เลี้ยง ขณะที่นายกเทศมนตรีตำบลภูดิน เผยเงินสะพัดวันละหลายล้าน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพในช่วงว่างเว้นการทำนา และกำลังเข้าสู่หน้าแล้งของประชาชนใน จ.กาฬสินธุ์ เช่น ตลาดนัดโค-กระบือ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก หลายแห่งเข้าสู่ภาวะปกติ และเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากเงียบเหงามานานกว่า 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุดนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานเปิดตลาดนัดโค-กระบือ เทศบาลตำบลภูดิน ประจำสัปดาห์ พร้อมลงพื้นที่ติดตามบรรยากาศการซื้อขายโค-กระบือ ร่วมกับนายศราวุธ สำราญมล นายกเทศมนตรีตำบลภูดิน คณะกรรมการตลาด และผู้นำชุมชน ซึ่งบรรยากาศมีความคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า เนื่องจากมีเกษตรกร และนายฮ้อยในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ต่างนำโค-กระบือ มาแลกเปลี่ยน ซื้อขายให้กันจำนวนมาก ทำให้สถานที่ตลาดนัดเต็มไปด้วยผู้คน และสัตว์เลี้ยงโค-กระบือ

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามบรรยากาศตลาดนัดแห่งนี้พบว่ามีความคึกคักอย่างมาก และเบื้องต้นเฉพาะมีเกษตรกรและนายฮ้อยเดินทางมาลงทะเบียนในตลาดแล้วไม่น้อยกว่า 800 คน ซึ่งถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จของเทศบาลตำบลภูดิน ที่ทำให้ตลาดนัดโค-กระบือกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากเงียบเหงามานานกว่า 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา


TRENDING
© Copyright 2022, All rights reserved. Esan Time Thailand
Take Me Top